โครงการ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ระหว่างอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ซึ่งล่าช้ามานานนับตั้งแต่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในเครือ เจริญโภคภัณฑ์ (CP) ชนะการประมูล และลงนามในสัญญา 24 ตุลาคม 2562 ถึงวันนี้ครบ 5 ปีพอดี แต่ยังไม่ได้ก่อสร้างอะไรเลย หลังจากลงนามไม่นาน ไทยก็เจอวิกฤติโควิดระบาดในปี 2563 ทำให้ต้องเลื่อนการก่อสร้างออกไป และมีการแก้ไขสัญญาใหม่ เพิ่งจบไม่กี่วันก่อน คาดว่า คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ/รัฐมนตรีคลัง/ประธานอีอีซี ซึ่งมีมติเห็นชอบให้ แก้ไขสัญญา 5 ประเด็น จะนำเสนอ ครม.ในวันอังคารหน้า 29 ตุลาคม จะได้เดินหน้าก่อสร้างเสียที

โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เป็นอีก เมกะโปรเจกต์ 10 ชั่วโคตร ที่ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปอย่างมหาศาล ถ้าลงมือก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2562 วันนี้ก็คงจะใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อีกปีสองปีก็คงได้เปิดใช้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมานับหนึ่งใหม่

5 ประเด็นที่มีการแก้ไข ซึ่งใช้เวลาเจรจานานกว่า 3 ปี แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาผมคิดว่ารับได้ สองฝ่ายต่างก็เสียโอกาสไปมากแล้ว ข้อแรก “วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมทุน” จากเดิมที่ให้เอกชนลงทุนสร้างเสร็จก่อน แล้วรัฐค่อยทยอยจ่ายเงินร่วมทุน 149,650 ล้านบาทเป็นรายงวด แก้ไขเป็น “สร้างไปจ่ายไป” โดย เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการได้ภายใน 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะตกเป็นของรัฐทันทีตามงวดการจ่ายเงิน ก็ถือว่าแฟร์ดี เพราะหลักประกัน 160,000 ล้านบาทนั้น เอกชนยังต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยด้วย

อีกประเด็นที่มีการแก้ไขคือ การชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์มูลค่า 10,671 ล้านบาท แก้ให้แบ่งชำระเป็น 7 งวดเป็นรายปีจำนวนเท่ากัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญานี้ และยังต้องวางแบงก์การันตีวงเงินเท่ากับค่าสิทธิด้วย

...

ส่วนประเด็น การแบ่งผลประโยชน์ (Revenue Sharing) ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ผมก็คิดว่าแฟร์ เพราะภาครัฐจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยระบุว่า หากอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีสิทธิเรียกให้เอกชนชำระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่ม ตามจำนวนที่ตกลงกัน

ก็หวังว่า ครม.จะเห็นชอบ ตามที่ คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีคลังเสนอ เพราะได้กลั่นกรองมาแล้ว เมกะโปรเจกต์โครงการนี้ล่าช้าไปมากแล้ว ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปมากแล้ว ไม่ควรดึงให้ล่าช้าออกไปอีก ยิ่งช้าประเทศก็ยิ่งเสียโอกาส

ถ้า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สร้างเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า (ถ้าคิดจากวันลงนามสัญญาปี 2562 ก็เป็น 10 ปี) ไม่เพียงให้บริการผู้โดยสารจาก 3 สนามบินที่จะมีมากกว่า 200 ล้านคนต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ยัง ทำให้ภาคตะวันออกทั้งภาคกลายเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาทันที และ เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี จะเกิดใหม่อย่างรวดเร็วไม่อืดอาดล่าช้าเหมือนปัจจุบัน ซึ่งขายได้แต่ที่ดินแต่ไม่มีโรงงาน

ข้อมูลจาก ท่าอากาศยานไทย (AOT) วันนี้ สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนแล้ว หลังจากที่เปิด อาคารเทียบเครื่องบินรอง (SAT–1) และ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคน ในปี 2573 ส่วน สนามบินดอนเมือง ที่กำลังขยาย ก็รับผู้โดยสารได้ถึง 50 ล้านคนในปี 2573 แค่ 2 สนามบินก็มีผู้โดยสารกว่า 200 ล้านคนแล้ว ยังไม่นับ สนามบินอู่ตะเภา ที่จะสร้างเสร็จในอนาคต การมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจึงคุ้มค่ามาก

ในอนาคต รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังเชื่อมต่อกับ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ขยายเส้นทางไปยัง จันทบุรี ตราด เข้าสู่ กัมพูชา ได้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรถไฟสายนี้อีกมหาศาลเลยทีเดียว ยิ่งสร้างเร็วก็ยิ่งคุ้มค่าเร็ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม