จะน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลจะปล่อยให้โอกาสหลุดมือไปนั่นก็คือโอกาสที่จะนำตัวจำเลยคดีตากใบมาดำเนินคดีที่ศาลจังหวัด ก่อนที่จะขาดอายุความในวันนี้ 25 ตุลาคม 2567 หลังจากที่ปล่อยให้คดีถูกแช่แข็งนานถึง 20 ปี จนบรรดาญาติๆ ของผู้เสียชีวิตทนไม่ไหว ต้องฟ้องคดีเอง เมื่อเดือนกันยายน

คดีตากใบเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 เริ่มต้นด้วยการชุมนุมของชาวบ้าน ที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จ.นราธิวาส จบลงด้วยการเสียชีวิตกว่า 80 คน ทั้งในระหว่างการชุมนุม และขณะที่ถูกจับขึ้นรถ นำส่งตัวไปที่ค่ายทหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี มีผู้ที่ถูกระบุตัวเป็นผู้ต้องหา 14 คน แต่ถูกฟ้องเพียง 7 คน แต่ไม่ได้จำเลยขึ้นศาลแม้แต่รายเดียว

ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูง เช่น พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 และ พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นต้น เหตุการณ์เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย กลายเป็นชนวนให้ไฟใต้ลุกลามยิ่งขึ้น เพราะในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดเหตุการณ์ “กรือเซะ” ที่มัสยิด จ.ปัตตานี 32 ศพ

จากการศึกษาของคณะนักศึกษา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2552 เกิดเหตุรุนแรง 7,810 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3,418 คน บาดเจ็บ 5,624 คน มีการประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อปี 2548 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ทั้งการจับกุมคุมขัง

โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดใดๆ ถ้าเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถ้าปฏิบัติหน้าที่ที่สมควรแก่เหตุ เป็นนโยบายที่มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์มาก เพราะขัดต่อนโยบายหลัก “ใช้การเมืองนำการทหาร” มาเป็น “ใช้การทหารนำการเมือง” และยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

...

ศอ.บต.เป็นศูนย์ประสานงาน ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และ ทหาร ร่วมมือกัน ทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามมาก แต่รัฐบาลไทยรักไทยสั่งยุบ ศอ.บต. และใช้กำลังตำรวจเป็นหลัก เพราะเชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เป็น “โจรกระจอก” ทำให้ไฟใต้โหมกระพือ

จึงมีการกลับไปจัดตั้ง ศอ.บต.ขึ้นมาอีกครั้ง ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไฟไม่โหมกระพือ จึงน่าเสียดายถ้ารัฐบาลเพื่อไทย จะปล่อยโอกาสทองให้หลุดมือไป ไม่ดำเนินคดีตากใบตามหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง เพื่อแสดงว่าพร้อมให้ความยุติธรรม และอยู่ร่วมกันโดยสันติ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม