นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไปแสดงปาฐกถาเรื่อง Soft Power ในงานเดลินิวส์ทอล์กว่า ประเทศไทยติดกับดับรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี การยกระดับให้เป็นประเทศรายได้สูงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยปัจจัยความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพการศึกษา และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่” หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ Soft Power ที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะเป็น “เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่” ที่จะ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พุ่งทะยานภายในทศวรรษหน้า ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง คนไทยทุกคนไม่ยากจนอีกต่อไป เรามีทุกวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ เช่น อาหารไทยที่ดึงดูดคนทั่วโลกให้มาลิ้มลอง การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ 1 ครอบครัว 1 Soft Power

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขึ้นเวทีอธิบายต่อว่า คำนิยามซอฟต์พาวเวอร์ของไทย คือ “การมีเสน่ห์” ซึ่งเป็น คำนิยามที่แตกต่างจากชาวโลกไปเลย น่าจะมีประเทศไทยประเทศเดียวที่ใช้คำนิยามนี้

Soft Power ในนิยามของ Global Soft Power Index ที่ใช้จัดอันดับ Soft Power โลก ทุกปี กำหนดให้มีตัวชี้วัด 3 ด้าน คือ ความคุ้นเคย (Familiarity) ชื่อเสียง (Reputation) อิทธิพลที่มีต่อประเทศอื่น (Influence) ร่วมกับการวิเคราะห์ผ่าน 8 เสาหลักของ Soft Power ได้แก่ ธุรกิจและการค้า (Business & Trade) การปกครอง (Governance) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relation) วัฒนธรรมและมรดก (Culture & Heritage) สื่อและการสื่อสาร (Media & Communication) การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education & Science) ประชาชนและค่านิยม (People & Values) และ อนาคตที่ยั่งยืน (Sustainable Future)

...

และยังมี “ตัวชี้วัดย่อย” อีก 40 กว่าข้อ เช่น ความคล่องตัวในการทำธุรกิจ เสถียรภาพทางการเมือง อิทธิพลทางการทูต ความเป็นมิตรของผู้คน การลงทุนในเทคโนโลยี ฯลฯ

ผลการจัดอันดับ ดัชนีซอฟต์พาวเวอร์โลก Global Soft Power Index 2024 โดย Brand Finance ในปีนี้ สหรัฐฯ ยังครองอันดับ 1 ด้วยคะแนน 78.8 คะแนน อันดับ 2 สหราชอาณาจักร 71.8 คะแนน อันดับ 3 จีน 71.2 คะแนน (ขึ้นมาจากอันดับ 5) อันดับ 4 ญี่ปุ่น 70.6 คะแนน อันดับ 5 เยอรมนี 69.8 คะแนน (หล่นจากอันดับ 3) และ Thailand ประเทศไทย อันดับที่ 40 ของโลกมี 44.8 คะแนน ขยับขึ้นมาจากอันดับ 41 ในปีที่แล้ว และอยู่ใน อันดับ 3 ของอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย แม้แต่ Soft Power ไทยก็ยังแพ้สองประเทศ เล็กๆ เพื่อนบ้านไทย สิ่งสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์และมาเลเซียผงาดในโลกเหนือกว่าไทย ก็คือ การศึกษาที่ดีกว่า ไม่ใช่ มีเสน่ห์ที่ดีกว่า หรือ โปรยเสน่ห์เก่งกว่าไทย แต่อย่างใด

ผมคิดว่า นายกฯแพทองธาร คงเข้าใจเรื่อง Soft Power ไม่ดีพอ พูดทีไรจึงถูกนิดถูกหน่อย แต่ผิดมากกว่า ยิ่ง “หมอเลี้ยบ” มานิยามใหม่ว่าคือเสน่ห์ ยิ่งพาเข้าป่าไปกันใหญ่

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency) ของไทย ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน นายกฯควรไปอ่านให้เข้าใจว่า Soft Power ไม่ใช่วัดวาอาราม ท่ารำที่อ่อนช้อยมวยไทย ต้มยำกุ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง ทะเลสวยหาดทรายขาว ซึ่งเป็นสินทรัพย์และของดีของไทยที่เป็นที่นิยมทั่วโลก

Soft Power มีนิยามความหมายที่กว้างกว่าการส่งออกวัฒนธรรม ภาพจำ และสินค้าไทย

Soft Power คือ ยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง “กระบวนการ” หรือ “กลไก” สร้างอำนาจต่อรองในระดับนานาชาติ ผ่านการดึงดูดทางวัฒนธรรมด้วยสื่อ การท่องเที่ยว หรือ นโยบายต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้าง National Branding ให้โลกจดจำ ไม่ใช่ 1 ครอบครัว 1 Soft Power อย่างที่นิยามกันเองจนไม่รู้ ความหมายที่แท้จริงของ Soft Power คืออะไร.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม