การร้องให้ยุบพรรคการเมือง กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมของบรรดานักร้อง อาจทำให้ชื่อเสียงโด่งดัง หรือมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝงหรือไม่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภา พูดถึงการที่พรรคเพื่อไทยถูกร้องให้ยุบพรรคว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค แม้ว่าเพื่อไทยจะอยู่คนละขั้ว

จากการติดตามข่าวการเมืองทั่วโลก มาเป็นเวลานานหลายสิบปี ไม่พบว่ามีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลก ที่มีการยุบกันเป็นว่าเล่นเหมือนกับไทยแลนด์ เพราะโลกประชาธิปไตยถือว่าพรรคการเมือง เป็นเสรีภาพของประชาชน เช่นเดียวกับเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็นของประชาชน รัฐบาลไม่มีอำนาจปิดปาก

แต่เมื่อหลายปีมาแล้ว เคยมีข่าวเรื่องการยุค “พรรคนาซีใหม่” ในเยอรมนี เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์เผด็จการนาซี ของเผด็จการฮิตเลอร์ เหตุผลที่ถูกยุบเพราะประกาศนโยบายเผด็จการ เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยชัดแจ้ง แม้แต่ประเทศประชาธิปไตยต่างๆในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินเดีย หรือเกาหลีใต้ก็ไม่มียุบพรรค

อาจมีบางประเทศที่อยู่ใกล้ชิดกับไทย ที่มักจะมีข่าวยุบพรรคบ่อยๆในทุกครั้งก่อนการเลือกตั้ง เพื่อตัดคู่แข่งพรรครัฐบาล ทำให้กลายเป็นผู้ชนะตลอดกาล ส่วนการยุบพรรคยอดนิยมอีกแบบหนึ่งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ คือการใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง เช่นที่พม่ามีรัฐประหารล่าสุด เมื่อปี 2564 กลายเป็นสงครามกลางเมือง

ประเทศไทยก็ชอบรัฐประหารแบบเดียวกับพม่า และทำบ่อยกว่าพม่า แต่ไม่เรียกว่า “ยุบพรรค” เรียกว่าฉีกรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญดีๆ เช่นฉบับ 2550 ระบุอำนาจหน้าที่ของ กกต.ว่า นอกจากดูแลการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมแล้ว ยังต้องสอนเรื่องประชา ธิปไตยให้ประชาชน

...

รัฐธรรมนูญ 2550 แม้จะสืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร แต่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และผ่านการออกเสียงประชามติ จากผู้มีสิทธิทั่วประเทศ มีเจตนาอันดีที่จะให้ กกต.สอนการเมืองประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทาง การเมือง โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ ถือเป็นการส่งเสริม “การเมืองแบบสร้างสรรค์”

การเป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ และควบคุมให้เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ได้หมายความว่าจะจ้องยุบพรรค เพราะอาจกลายเป็นการเมืองแบบทำลาย เป็นความเสียหายต่อประเทศ ประชาชนและประชาธิปไตย ได้โปรดมองการเมืองประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ทำไมจึงเป็นการเมืองสร้างสรรค์.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม