แนวคิดจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินสองแสนล้านบาท เพื่อนำไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ

เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารให้ถูกลง ช่วยลดภาระรายจ่ายค่าเดินทางของพี่น้องประชาชน เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ

แต่...แต่การจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าทุกเส้นทุกสีทุกสายจากเอกชนต้องใช้วงเงินห้าแสนล้านบาทโดยประมาณ

รัฐบาลจึงต้องหาแหล่งรายได้อีก สามแสนล้านบาทเพื่อซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า กลับมาเป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและ รมว.คมนาคม จึงมีแนวคิดจะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดโซนกรุงเทพฯ ชั้นในจากผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว อัตรา 50 บาทต่อคันต่อวัน

ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้เพิ่มอีก 35 ล้านบาทต่อวัน

หรือ 1,050 บาทต่อเดือน หรือ 12,600 ล้านบาทต่อปี

เพื่อนำรายได้ส่วนนี้ไปสมทบกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชนที่ยังขาดอีกสามแสนล้านบาทโดยประมาณ

นายสุริยะ เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมได้มีการศึกษาแนวทางจัดเก็บ“ค่าธรรมเนียมรถติด” ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในพบว่ามีปริมาณจราจรผ่านเข้าผ่านออกถึง 700,000 คันต่อวัน

โดยวางแผนจัดโซนนิงเก็บค่าธรรมเนียมรถติดขั้นต้นไว้ 6 เส้นทาง

1, แยกเพชรบุรี-ทองหล่อ จราจรคับคั่งกว่า 60,000 คันต่อวัน

2, แยกสีลม-นราธิวาส จราจรคับคั่งกว่า 62,000 คันต่อวัน

3, แยกสาทร-นราธิวาส จราจรคับคั่งกว่า 83,000 คันต่อวัน

4, แยกปทุมวัน-พญาไท-พระราม 1 จราจรคับคั่งกว่า 62,000 คันต่อวัน

5, แยกราชประสงค์ ราชดำริ-พระราม 1 เพลินจิต จราจรหนาแน่นกว่า 56,000 คันต่อวัน

6, แยกประตูน้ำ ราชดำริ-ราช ปรารภ-เพชรบุรี จราจรคับปั๋งกว่า 68,000 คันต่อวัน

นายสุริยะ ย้ำว่าการตั้งโซนเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะทำให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวเปลี่ยนไปโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

...

ซึ่งจะส่งผลให้การจราจรไม่ติดแน่นติดหนึบติดนานอย่างที่แก้ไม่ตก ในปัจจุบัน

สำหรับผู้ไม่ต้องการจ่ายค่าธรรมเนียม รถติด 50 บาทต่อวัน สามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นที่ไม่ผ่านโซนที่ตั้งด่านเก็บเงิน

นายสุริยะเปิดเผยว่า ค่าธรรมเนียมรถติดจะเก็บเฉพาะผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว

ส่วนรถปิกอัพผ่านฟรีไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม

“แม่ลูกจันทร์” เห็นว่ายังมีประเด็น ที่ต้องถกเถียงกันอีกมากมาย

ข้อที่ 1 การเจาะจงเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเฉพาะรถยนต์ส่วนตัว แต่รถปิกอัพ (ซึ่งก็เป็นรถนั่งส่วนตัว) รวมไปถึงรถตู้ รถแวน รถจี๊ป รถแท็กซี่ รถสามล้อเครื่อง รถบัสทัศนาจร รถบรรทุก รถพ่วง และรถประเภทอื่นๆ ไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทาง

เข้าข่ายเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน!!

ข้อที่ 2 การโขกค่าธรรมเนียมรถติดถึง 50 บาทต่อคันต่อวัน หรือ 1,500 บาทต่อเดือน มันแพงเว่อร์เกินไปหรือไม่??

ข้อที่ 3 ผู้ที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ในโซนรถติด 6 เส้นทาง ไม่ควรถูกมัดมือชกต้องจ่ายค่าเข้า-ออกบ้านตัวเอง

ข้อที่ 4 ผู้ที่จ่ายค่าทางด่วนมาแล้ว หากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรถติดเท่ากับต้องจ่าย 2 เด้งในการเดินทางเที่ยวเดียว

คิดให้รอบคอบ มองให้หลายมุม ไม่งั้นยุ่งนะโยม.

“แม่ลูกจันทร์”

คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม