แก้ไม่ตกยังไร้ซึ่งทางออกสำหรับ “ภัยหลอกลงทุนผ่านออนไลน์” ที่นับวันคนไทยจะตกเป็นเหยื่อสูญเสียทรัพย์สินเงินทองให้กับมิจฉาชีพเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน “ก่อเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง” ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมจนเป็นปัญหาหนักหน่วงอยู่ขณะนี้

แล้วปัจจุบันรูปแบบก็มีหลากหลายตั้งแต่หลอกลงทุนซื้อหุ้น หลอกลงทุนประเภททองคำ หลอกลงทุนซื้อขายล่วงหน้า หรือลงทุนธุรกิจเฉพาะอย่างโรงพยาบาลชั้นนำในไทย หรือธุรกิจค้าปลีกมีชื่อเสียง โดยเฉพาะโรแมนซ์สแกมรูปแบบใหม่ “จีบไปด้วยหลอกร่วมลงทุนไปด้วย” เมื่อเหยื่อเหล่านี้รู้สึกตัวว่าถูกหลอกก็หมดตัวแล้ว

ส่วนเป้าหลักหนีไม่พ้น “กลุ่มวัยเกษียณ” มักมีเงินก้อนให้ถูกหลอกโดยมิจฉาชีพจะใช้ “นกต่อ” เปิดกลุ่มไลน์แล้วแอบอ้างผู้มีชื่อเสียง หรืออุปโลกน์คนมาเป็นอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีลงทุน “แบบไม่ใช้นกต่อ” ก็เสนอการลงทุนจะได้ผลตอบแทนรายวัน รายเดือน หรือหลอกลงทุนทำทีให้กำไรก่อนที่จะถอนเงินได้ต้องลงทุนเพิ่ม

เรื่องนี้หากว่า “ผู้เสียหายฮึดสู้ลงทุนอีก” ก็ยิ่งถูกหลอกให้โอนเงินมากกว่าเดิมไปเรื่อยๆ พ.ต.อ.ณัทกฤช พรหมจันทร์ ผอ.สำนักปฏิบัติการสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้นำเสนอข้อมูลเตือนภัยหลอกลงทุนออนไลน์ผ่านรายการสภาผู้บริโภค LIVE EP.23 รัก-ลวง-หลอก (ลงทุน) ว่า

ถ้าพูดถึงการหลอกลงทุนออนไลน์ในไทยเป็นภัยไซเบอร์ 1 ใน 14 ประเภทที่มีความเสียหายค่อนข้างหนักหน่วงที่สุดใน 2 ปีมานี้มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท อย่างล่าสุดโดนไปคนเดียว 35 ล้านบาท

ทั้งหมดทั้งมวลประชาชนถูกหลอกได้มาจาก “โซเชียลมีเดีย” มักถูกใช้เป็นช่องทางโฆษณา และชวนผู้เสียหายสนทนาผ่านอินบ็อกซ์ แถมคนร้ายปลอมใบอนุญาตโบรกเกอร์ หนังสือชี้ชวน หรือหนังสือเกี่ยวข้องกับงบการเงินของบริษัทต่างๆ เพื่อส่งให้ผู้เสียหายหลงเชื่อแล้วดึงเข้าไปสนทนาต่อบนไลน์กลุ่มที่ถูกจัดเตรียมเอาไว้

...

แล้วตามที่เคยทำการล่อซื้อกับกรณีความผิดหลอกลงทุนกว่า 200 คดี “ผู้เสียหายไม่ได้ทำผ่านโบรกเกอร์” เช่นเดียวกับตำรวจที่มีการรับเป็นคดีมากกว่า 1 หมื่นคดีก็ไม่ได้มีการลงทุนผ่านโบรกเกอร์ด้วยเหมือนกัน

ตอกย้ำ “โอกาสได้เงินคืน” เรื่องนี้เมื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพแล้วแทบไม่มีหวังจะได้เงินคืนเลย เพราะกว่าผู้เสียหายจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็กินเวลาหลายวัน ทำให้การแจ้งความกับตำรวจเพื่ออายัดบัญชีไม่สามารถทำได้ทัน แต่ก็พอมีแนวทางแชร์เฉลี่ยเงินคืนได้ด้วยการแจ้งความผ่านศูนย์ AOC สายด่วน 1441 หรือการแจ้งภัยออนไลน์

อันเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติการทางธนาคาร ร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการติดตามเส้นทางการเงินของคนร้ายให้แก่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกได้ทันที “One Stop Service” เพียงแต่สายด่วน 1441 มีจำนวนการโทร.เข้ามาก “โทร.ติดต่อยาก” เพราะประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทางออนไลน์เยอะจริงๆ

ล่าสุด “กระทรวงดีอี” ก็พยายามเพิ่มคู่สายรองรับสายที่โทร.เข้ามาส่งผลให้ปัจจุบันสามารถอายัดบัญชีของคนร้ายได้เกือบ 20% จากเดิมอายัดได้เพียง 1% แล้วเงินจำนวนนี้ก็จะถูกนำมาเฉลี่ยให้ผู้เสียหายต่อไป

ขณะที่ สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย บอกว่า การลงทุนให้ปลอดภัยห่างไกลถูกหลอกนั้นตามหลักในตลาดหลักทรัพย์แบ่งการลงทุน 8 กลุ่ม แต่ผู้ลงทุนไม่อาจซื้อขายได้ตรงต้องผ่านคนกลางเรียกว่า “โบรกเกอร์” ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สนง.คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)

ไม่เท่านั้น “บุคคลแนะนำการลงทุน หรือนักวิเคราะห์การลงทุน” ที่จะสามารถให้คำแนะนำในที่สาธารณะได้ก็ต้องได้รับใบอนุญาตจาก กลต.ด้วยเช่นกัน “ไม่ใช่ว่าใครอยากพูดก็ได้ทุกคน” แม้แต่บุคคลนั้นจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้กำไรร้อยล้านบาทแล้วจะมาเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน

ถ้าทำบุคคลนั้นก็เข้าข่าย “เป็นโบรกเกอร์เถื่อน” เพราะคนที่สามารถให้ความรู้ในการลงทุนต่อสาธารณะอาจจะชี้ชวนไปทางหนึ่งทางใดส่งผลกระทบกับ “หุ้นขึ้น หรือหุ้นลง” ดังนั้นบุคคลจะแนะนำ หรือวิเคราะห์การลงทุนได้จำเป็นต้องสอบขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีวิชาชีพอันเป็นมาตรฐาน

ทว่าสำหรับ “โบรกเกอร์ขึ้นทะเบียนกับ กลต.” ก็เช็กให้ชัวร์ก่อนได้ผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First สามารถตรวจสอบได้ทั้งนิติบุคคล บุคคล หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจาก กลต.หรือไม่ แม้แต่บางบริษัทกำลังจะนำเข้า “ตลาดหลักทรัพย์” แต่แอบอ้างว่านำเข้าแล้วไปหลอกขายลักษณะนี้ก็ตรวจสอบได้ ด้วยเช่นกัน

แต่หากปรากฏกรณีว่า “โบรกเกอร์ หรือบริษัทจดทะเบียนที่เป็นสินค้าทำความผิด” อย่างเช่นซื้อแล้วไม่ได้หุ้น หรือขายแล้วไม่ได้เงิน “กลต.” ก็จะมีมาตรการลงโทษ เช่น ปรับ พักเพิกถอนใบอนุญาต หรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบในการซื้อขาย อันเป็นการกำกับดูแล เพื่อความปลอดภัย และลดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน

“ตอนนี้นักลงทุนไทยคงย่ำรอยการถูกหลอกแบบเดิมจากความละโมบโลภมากที่มิจฉาชีพใช้เงื่อนไขจูงใจ ควบคู่การใช้เซเลบคนดังมาช่วยต่อเรื่องสร้างความน่าเชื่อถือหลอกลวงผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นหากประชาชนต้องการลงทุนควรผ่านโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตจาก กลต.จะมีความปลอดภัยที่สุด” สิริพรว่า

ขณะที่ จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค บอกว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพมักสร้างแพลตฟอร์มให้เห็นว่า “เงินนำไปลงทุน” ทั้งจ่ายเงินปันผลเดือนละ 10% ทำให้เหยื่อหลงดีใจเป็นกำไร สุดท้ายกลายเป็นแชร์ลูกโซ่อันเป็นความผิด พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527

จริงๆแล้วสำหรับ “ปัญหาหลอกลงทุนออนไลน์” หน่วยงานรัฐควรต้องเน้นการป้องกันเป็นหลักมากกว่าตามแก้สิ่งที่เกิดขึ้น “ด้วยการให้ความรู้กับประชาชนควรระวังอะไร” ขณะที่สภาผู้บริโภคกำลังขับเคลื่อนมาตรการหน่วงเงินก่อนโอน (Slow Payment) หากเกิน 1 หมื่นบาท ธนาคารต้องชะลอ 1 ชม.ก่อนอนุมัติจ่ายปลายทาง

เพื่อเพิ่มความปลอดภัย “ในการทำธุรกรรมออนไลน์” ลดผู้เสียหายจากปัญหามิจฉาชีพหลอกลวง

ทั้งหมดนี้เป็นวัฏจักรกลลวงแบบเดิมๆ “มิจฉาชีพ” ใช้ความโลภของคนมาเป็นเหยื่อล่อนำไปสู่ความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อโดยเฉพาะ “ผู้สูงอายุวัยเกษียณ” ที่ต้องการความมั่นคง “กลุ่มวัยรุ่น” ที่ต้องการหารายได้ต้องการสร้างฐานะอยากรวยเร็วๆ ต้องระวัง...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม