เมื่อวานนี้ผมทิ้งท้ายไว้ที่ “นโยบายหมายเลข 1 ของจีน” วันนี้ผมจะเล่ารายละเอียดต่อครับ หวังว่ารัฐบาลเพื่อไทยของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะเห็นความสำคัญนำไป “ปฏิรูปการเกษตรไทยครั้งใหญ่” แทนการแจกเงินไร่ละพันที่แจกมาไม่รู้ กี่สิบปีแล้ว หมดเงินไปไม่รู้กี่ล้านล้านบาทแล้ว ชาวนาไทยก็ยังยากจนเหมือนเดิม ทั้งที่ไทยเคยมี “จุดแข็ง” มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่วันนี้ชาวนาไทยถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ยังปลูกข้าวได้ไร่ละ 400 กว่า กก. แต่ชาวนาจีนปลูกข้าวได้ไร่ละพันกว่า กก. แถมยังปลูกข้าวได้ไร่ละ 2 ครั้งต่อปี ปลูกพืชหมุนเวียนอีก 1 ครั้งต่อปี เทียบกันไร่ต่อไร่ ชาวนาจีนมีรายได้สูงกว่าชาวนาไทยไร่ละเกือบ 10 เท่า

มาตรการสำคัญใน “นโยบายหมายเลข 1 ของจีน” ก็คือ การฟื้นฟูชนบทจีนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะ ด้านการเกษตร มีเป้าหมายชัดเจน ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านการเกษตรและความมั่งคงทางอาหาร ซึ่งวันนี้จีนปลูกข้าวได้เหลือกินแล้ว

ภายใต้นโยบายหมายเลข 1 รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการพัฒนา “สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการเกษตร” ไม่ใช่รอฝนเทวดาเหมือนรัฐบาลไทย ฝนตกน้ำก็ท่วมนา ฝนแล้งข้าวก็แห้งตายคานา รัฐบาลจีน สนับสนุนด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเกษตร เสริมสร้างผลงานด้านการบรรเทาความยากจน ผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของธุรกิจในชนบท ขยายช่องทางการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ผลักดันการสร้างชนบทที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยและการประกอบธุรกิจอย่างกลมกลืนและสวยงาม ฯลฯ

เป้าหมายสำคัญของนโยบายหมายเลข 1 ก็คือ การเกษตรอัจฉริยะ โดยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร ส่งเสริมระบบนิเวศอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทันสมัย ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเกษตรอัจฉริยะ สร้างสภาพแวดล้อมทางนิเวศการเกษตรที่ยั่งยืน เป็นต้น นโยบายก้าวหน้าเหล่านี้ เราไม่เคยได้ยินจากรัฐบาลไทยเลย รัฐมนตรีเกษตรฯหลายคนฟังแล้วอาจงงๆก็ได้เพราะไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรคืออะไร ระบบนิเวศการเกษตรคืออะไร การเกษตรอัจฉริยะคืออะไร

...

ภายใต้เป้าหมาย “เกษตรอัจฉริยะ” รัฐบาลจีนได้กระจายการพัฒนาไปยังเมืองและมณฑลที่สำคัญ เช่น มณฑลเฮยหลงเจียง พัฒนาด้านเกษตรดิจิทัล อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Digital Twin AI และ ระบบ Machine Learning ในการตรวจสอบและเพิ่มคุณภาพการผลิตด้วยวิดีโอแจ้งเตือนที่มีคุณภาพสูง สามารถควบคุมได้ทั้งระยะใกล้และไกล เมืองฉงชิ่ง รับหน้าที่พัฒนา “สมาร์ทฟาร์ม” โดยใช้ รถแทรกเตอร์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ AI โดรน ในการดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต มณฑลเสฉวน เน้นการพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมการเกษตรอัจฉริยะ” ที่ใช้ Big Data/Next Generation ICT และ AI ในการวิเคราะห์แปลงพืช การเก็บข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมการเพาะปลูก

น่าตื่นตะลึงไหม เกษตรกรจีนเขาใช้ Big Data กับ AI (ปัญญาประดิษฐ์) กันเป็นว่าเล่น ในขณะที่ รัฐบาลไทยตื่นเต้นกับศูนย์ Big Data ที่กูเกิลจะมาลงทุน ยิ่งเป็น ชาวนาไทย ไม่ต้องพูดถึง Big Data/AI อะไรกันจ๊ะ ทุกวันนี้รอรับเงินไร่ละพันบาทจากรัฐบาลทุกฤดูปลูกข้าว

มณฑลยูนนาน ได้รับหน้าที่ส่งเสริมการสร้าง “หมู่บ้านดิจิทัล” ในชนบท เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้ Cloud Computing IoT Big Data และ AI ครอบคลุมกระบวนการ เตรียมเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง การผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร ในขณะที่ ชาวนาไทยยังใช้วิธีดั้งเดิมเผาฟางข้าว จนเกิดฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ทุกปีต่างกันลิบโลก ผมหวังว่าสิ่งที่ผมเล่ามานี้ รัฐบาลนายกฯแพทองธาร โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตรฯ จะ นำไปปรับใช้เท่าที่จะสามารถทำได้จริง อย่างน้อยก็ ช่วยยกระดับชาวนาไทยให้ดีขึ้น แทนที่จะต้องแบมือรับเงินช่วยเหลือไร่ละพันจากรัฐบาลทุกปี.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม