การให้สัมภาษณ์ของนักการเมือง ในช่วงนี้ค่อนข้างจะเข้มข้น สะท้อนถึงความคิดเห็นต่างๆ ตัวอย่างเช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องที่มีผู้ร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย กับอีก 6 พรรคร่วมรัฐบาล ฐานปล่อยให้ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ครอบงำ โดยให้เลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

อาจารย์ชูศักดิ์บอกว่า ส่วนตัวไม่ได้กังวลอะไร เคยบอกว่ามาตราพวกนี้เป็นผลพวงของรัฐประหาร สมัยก่อนๆ ไม่มีมาตราเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ผิดธรรมชาติการเมือง เอาเป็นว่าให้ดูประวัติศาสตร์ อย่าให้ใครใช้การเมืองฉุดรั้งความเจริญของบ้านเมือง กรณีเดียวกัน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แห่งพรรคประชาชน ก็ออกมาเข้มข้น

สส.ปากกล้าจากพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็น สส.พรรคประชาชน กล่าวว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. จะต้องพูดให้ชัดว่าคำร้องนิรนามที่ชาวบ้านเรียกว่า “บัตรสนเท่ห์” เป็นหนึ่งในคำร้องที่คิดว่ามีมูล ต้องตั้งแท่นตรวจสอบจริงหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นก็ไปกันใหญ่ แสดงว่ามีอำนาจมืดลึกลับอันตราย อาจเกิดรัฐประหาร เงียบได้ตลอดเวลา

นายอดิศรเปรียบเปรยว่า ขณะนี้ มีเทวดาอยู่หลังม่าน หยิบยกกลไกต่างๆ ทำให้อำนาจบริหารทำงานไม่ได้ แบบนี้ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ตอบโจทย์พวกเทวดาที่ใช้ “นักร้อง” เป็นเครื่องมือทำลายอำนาจประชาชน ตอนนี้เทวดามีมาก เทวดาการเมืองจะใช้คนไปข่มขู่อำนาจนิติบัญญัติและบริหาร เปลี่ยนประชาธิปไตยเป็น “เทวดาธิปไตย”

นักการเมืองชื่อดังทั้งสองคน ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล อีกหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน แต่มีแนวความคิดทางการเมืองแนวเดียวกัน บางคนอาจบอกว่ากฎหมายการยุบพรรคผิดธรรมชาติการเมือง หรือเป็นกฎหมายที่สืบทอดมาจากรัฐประหาร บางคนอาจเถียงว่าถ้าไม่ทำผิดจะไปกลัวอะไร กลัวเพราะเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลัก การประชาธิปไตยและเป็นกฎหมายที่มีที่มาโดยมิชอบ ไม่ได้มาจากผู้แทนปวงชน แต่มาจากรัฐประหาร

...

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และบังคับใช้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ย่อมจะไม่มีปัญหา เป็นที่ยอมรับกันทั้งในหมู่ประชาชน นักวิชาการ หรือแม้แต่นานาประเทศก็ยอมรับ เช่น รัฐธรรมนูญ 2540

รัฐธรรมนูญที่มีที่มาอย่างถูกต้อง มาจากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นที่ยอมรับทุกฉบับ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ฉบับ 2540 ที่เน้นการพัฒนาพรรคการเมืองและประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีกฎหมายจัดองค์กรภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็นมติพรรค หรือข้อบังคับของพรรค ต้องยึดหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม