เปิดผลสำรวจ “คดีตากใบ” ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม มอง ควบคุมตัวผู้ต้องหามาขึ้นศาลไม่ได้ เชื่อ คดีมักสิ้นสุดโดยไม่มีการลงโทษ

วันที่ 20 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจเฟซบุ๊ก Projek Sama Sama ซึ่งเป็นการรวมตัวนักกิจกรรมทางการเมืองชายแดนใต้/ปาตานี เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนปาตานี/ชายแดนใต้ “คดีตากใบ” เพื่อสอบถามความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยของคนในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ กรณีที่ครอบครัวเหยื่อตากใบเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในขณะที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจทางออนไลน์ทั้งสิ้น 4,232 ราย ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา ช่วงระหว่างวันที่ 15-19 ตุลาคม 2567 ผลสำรวจเป็นดังนี้

1. ทราบหรือไม่ว่าครอบครัวผู้เสียหายและญาติจากเหตุการณ์ตากใบเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ

  • ร้อยละ 87.2 ระบุว่า ทราบ
  • ร้อยละ 12.8 ระบุว่า ไม่ทราบ

2. เชื่อมั่นในความเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทยในกรณีคดีตากใบแค่ไหน

  • ร้อยละ 54.6 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย
  • ร้อยละ 22.4 ระบุว่า เชื่อมั่นน้อย
  • ร้อยละ 14.2 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก
  • ร้อยละ 8.8 ระบุว่า เชื่อมั่นปานกลาง

3. คิดว่าตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีตากใบมาขึ้นศาลได้หรือไม่

  • ร้อยละ 76.1 ระบุว่า ควบคุมไม่ได้
  • ร้อยละ 23.9 ระบุว่า ควบคุมได้

...

4. คิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจในสังคมไทย ได้รับการคุ้มครองปกป้องจากการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายมากแค่ไหน

  • ร้อยละ 63.8 ระบุว่า ได้รับความคุ้มครองมาก
  • ร้อยละ 18.9 ระบุว่า ได้รับการคุ้มครองปานกลาง
  • ร้อยละ 17.3 ระบุว่า ไม่ได้รับการคุ้มครอง

5. เชื่อหรือไม่ว่าการสอบสวนและการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ มักจะสิ้นสุดโดยไม่มีการลงโทษ

  • ร้อยละ 63.2 ระบุว่า เชื่อว่าไม่มีการลงโทษ
  • ร้อยละ 27.8 ระบุว่า เชื่อแต่ยังไม่เพียงพอ
  • ร้อยละ 9 ระบุว่า มีการลงโทษที่เป็นธรรมแล้ว

6. การลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมไทย อย่างไร

  • ร้อยละ 87.7 ระบุว่า ความเชื่อมั่นลดลงอย่างมาก
  • ร้อยละ 6.3 ระบุว่า ความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อย
  • ร้อยละ 6 ระบุว่า ไม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น

7. รัฐควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้หรือไม่

  • ร้อยละ 94.1 ระบุว่า ควรปฏิรูป
  • ร้อยละ 5.9 ระบุว่า ไม่จำเป็น