เกือบจะทุกประเทศพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่พบกับความหายนะ หลังการระบาดของโควิด-19 ถ้าเปรียบเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจในอดีตหรือภัยการก่อการร้ายในอดีต มีรูปแบบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าจะอธิบายให้เห็นชัดเจนก็ไม่ต่างจาก ฤดูมรสุม เปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปตามสภาวะโลกร้อน ไม่รุนแรง แต่นาน ฝนจะตกแช่ที่ใดที่หนึ่งจนเกิดน้ำท่วมขัง ดินโคลนถล่ม จนเกิดความเสียหายเป็นจุดๆ การกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะอาศัยแต่ทฤษฎีมาวิเคราะห์หรือแก้ปัญหาเพียงด้านใดด้านหนึ่งคงไม่ได้

แม้แต่ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ก็เปลี่ยนไป 1+1 ไม่ใช่ 2 อีกต่อไป ยกตัวอย่างเรื่องของ อัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย ที่เป็นปัญหาร้าวฉานระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย กับ รัฐบาลชุดนี้ โดยวิชาชีพแล้ว ตัดเรื่องอคติส่วนตัวออกไปก่อนเพราะคงไม่มี ใครขาดจิตสำนึกที่จะเอาอนาคตประเทศเป็นเดิมพันอยู่แล้ว

สาเหตุที่แบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้เพราะปัญหาอัตราเงินเฟ้อ เมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลงและสามารถควบคุมได้ ก็ห่วงการเติบโตเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด พูดภาษาชาวบ้านคืออัดเม็ดเงินเข้าระบบจนมากเกินความจริงเหมือนกับการซื้อโฆษณาในกูเกิล ถ้าสินค้ายังไม่พร้อมจะขาย ซื้อโฆษณาเท่าไหร่ก็ไม่พอ หมดเงินโปรโมตสินค้าเปล่าๆ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบสะเปะสะปะ ไม่มีเกิดประโยชน์หรือลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ในขณะที่ไม่มีความสามารถในกำลังซื้อ ประโยชน์จะตกอยู่กับคนกระจุกเดียว แจกเงินแบบไม่มีเป้าหมายหรือการควบคุมทิศทางการใช้จ่าย ก็จะเกิดประโยชน์กับคนแค่กลุ่มเดียว เม็ดเงินไปกระจายเข้าระบบเศรษฐกิจทั้งระบบแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่บอกว่าแม้แต่ทฤษฎีทางเศรษฐกิจก็มีการพลิกแพลง เมื่อประเมินจากที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายลงมาอีก 0.50% ที่เป็นจุดเริ่มต้น มีแนวโน้มจะปรับลงมาอีก 0.5% ภายในปีนี้และในปีหน้าปรับลดลงอีก 1.0% ปี 2026 อีก 1.0% นั่นหมายถึง แบงก์ชาติสหรัฐฯต้องพิมพ์เงินดอลลาร์เข้าระบบอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็เป็นเวลาอีก 2 ปี และมีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงตามไปด้วย (คิดตาม)

...

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เปิด โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส โดยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนกว่า 130 ราย เป้าหมายลดรายจ่ายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก และลดราคาสินค้าให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเงิน 10,000 ฟื้นเศรษฐกิจเติมเงินเข้าไปในระบบแล้วกว่า 145,000 ล้าน จัดสินค้าราคาถูกผ่านร้านธงฟ้า ร้านค้าชุมชนกว่า 1.4 แสนแห่ง มีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 1.1 แสนล้าน คาดจะดันจีดีพีในปี 2568 โตร้อยละ 2.8 โครงการนี้ จะใช้เวลา 5 เดือน มีไปจนถึงเดือน ม.ค.ปี 2568 (ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป)

เป็นวันเดียวกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงินแบงก์ชาติประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายลงมา 0.25% กนง.ระบุว่า เป็นการทดลองไม่ได้หมายความว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจยังย่ำเท้าอยู่กับที่ หนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด รวยกระจุกจนกระจาย จะมองแค่การแก้ปัญหาระยะสั้นไม่ได้

ถ้าแก้ปัญหาความยากจนได้ เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนโดยอัตโนมัติ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม