"ชูศักดิ์" รายงานผลการศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม ชี้ คดี ม.110 และ ม.112 ยังเป็นประเด็นที่อ่อนไหว อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ด้านอ.เข็มทอง ระบุการใช้ความเมตตา การให้อภัย ก็เป็นอีกแง่หนึ่งของความยุติธรรม ส่วน "ชัยธวัช" ยืนกราน ไทยเคยมีการนิรโทษคดี 112 มาแล้ว ก่อน "พิเชษฐ์" สั่งปิดประชุมเลื่อนโหวตไปสัปดาห์หน้า

วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แถลงรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (นางสาวขัตติยา สวัสดิผล เป็นผู้เสนอ) และมีมติตั้งกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม บัดนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ดำเนินการพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้พิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งจากข้อมูลจากเอกสารวิชาการ งานวิจัย รายงานผล การศึกษา และข้อเสนอที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลสถิติคดี การรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม บทความและข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม ข้อเรียกร้องหรือข้อคัดค้านจากกลุ่มต่าง ๆ

ประเด็นหลักของการพิจารณารายงาน ดังนี้
1. การนิรโทษกรรม โดยหลักการไม่ใช่การยกเลิกความผิด การกระทำนั้นยังเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ เพียงแต่เห็นสมควรให้มีการยกเว้นความรับผิดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง
2. รายงานฉบับนี้คือผลการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไม่ใช่การพิจารณาหรือยกร่างกฎหมาย ไม่ใช่การยกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
3. แม้รายงานจะเป็นเรื่องการศึกษารายงานการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แต่คณะกรรมาธิการฯ ยังได้ศึกษาเสนอแนะแนวทางอื่น ๆ ในการยุติความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย อาทิ แนวทางการตราพระราชบัญญัติล้างมลทิน แนวทางการขอพระราชทานอภัยโทษ แนวทางการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างอื่น เช่น การชะลอการฟ้องการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงแนวทางการตราพระราชบัญญัติที่มีเงื่อนไขต้องดำเนินการตามกระบวนการที่เกิดขึ้น

...

โดยสาระสำคัญที่ได้จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ มีดังนี้
1. ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม คณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาแล้วเห็นว่า ควรนำเหตุการณ์ในการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เหตุความขัดแย้งทางการเมือง เหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มาเป็นหลักในการกำหนดขอบเขตช่วงเวลาของการนิรโทษกรรม
2. การกระทำที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม มุ่งเน้นที่การกระทำที่มูลเหตุเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้แยกแยะการกระทำในคดีหลัก เช่น ความผิดฐานเป็นกบฏ การกระทำในคดีรอง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ได้แยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองออกมาพิจารณาเป็นการเฉพาะ โดยได้แสดงเหตุผลในทุกมิติ ทั้งผู้ที่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงการแสวงหามาตรการอื่น ๆ เช่น การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข
3. คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการเสนอรูปแบบการนิรโทษกรรม ทั้งรูปแบบอัตโนมัติ รูปแบบการให้มีคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย และรูปแบบผสมผสาน การให้มีคณะกรรมการฯ มาพิจารณาเนื่องจากการนิรโทษกรรม หากเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเกิดมานานแล้ว มีคดีเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งที่เป็นคดีหลักและคดีรอง การมีคณะกรรมการฯ มาพิจารณาจะทำให้การนิรโทษกรรมนั้นถูกต้อง เป็นธรรม อย่างแท้จริง
4. ควรกำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรมว่ารวมถึงการกระทำใดบ้างและควรมีการทำบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติไว้เพื่อให้ทราบว่าจะมีการนิรโทษกรรมความผิดใดบ้าง นอกจากนั้น ยังได้เสนอแนะแนวทางว่า การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอาจทำเป็นหลายฉบับเพราะเหตุการณ์หรือพฤติกรรมของการกระทำมีความแตกต่างกัน
5. คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตหลายประการเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณา เช่น การอำนวยความยุติธรรมโดยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ข้อสังเกตที่เกิดจากการศึกษาของคณะกรรมการอิสระในหลายชุดที่ผ่านมา รวมทั้งความเห็นของกรรมาธิการที่เห็นว่าความผิดตามมาตรา 110 ความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้บังคับหรือผูกมัดคณะรัฐมนตรีที่จะต้องดำเนินการตามที่เสนอ
ดังนั้น ที่ประชุมควรได้รับทราบรายงานเพื่อนำผลการศึกษาไปประกอบการพิจารณาของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาหรือยกร่างพระราชบัญญัติในอนาคตต่อไป

จากนั้นได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ถึงเรื่องการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดทางอาญา ตามมาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

“จุรินทร์” อภิปรายย้ำจุดยืน “ประชาธิปัตย์” ไม่เห็นชอบ รายงาน กมธ. -ต้องไม่รวมคดี ม.112

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ลุกขึ้นเพื่ออภิปรายถึงเหตุผลของการที่พรรคฯ ไม่เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่ได้พิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า ตนและพรรคฯ ทราบกันดีว่า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงการเสนอแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และไม่ใช่เป็นการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่แนวทางในรายงานฉบับดังกล่าวจะเป็นหัวเชื้อในการนำไปสู่การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป

นายจุรินทร์ ยังได้กล่าวถึงเรื่องสำคัญอีกประการ คือเหตุผลที่ตนและพรรคฯ ไม่เห็นชอบกับรายงานของ กมธ.ฉบับนี้ และไม่เห็นควรส่งรัฐบาล คือ
1. เพราะรายงานของ กมธ. ฉบับนี้ได้รวมแนวทางการนิรโทษกรรม มาตรา 110 และมาตรา 112 เอาไว้ โดยในรายงานได้ระบุไว้ชัดว่าให้พิจารณาเป็น 3 แนวทางในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เกี่ยวกับมาตรา 110 มาตรา 112 คือ 1. ไม่นิรโทษกรรมเลย 2. นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข และ 3. นิรโทษกรรมสุดซอย แบบไม่มีเงื่อนไขเพื่อเป็น “ทางเลือก” ซึ่งตน และพรรคฯ เห็นว่า จาก 3 แนวทางดังกล่าว โดยเฉพาะใน 2 แนวทางหลังที่ให้มีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข และนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขนั้นมีความล่อแหลม
2. ข้อความและความเห็นกรรมาธิการที่ระบุไว้ใน ข้อสังเกต ข้อ 9.1 หน้า 54 ซึ่งข้อสังเกตของ กมธ. นี้หากส่งถึงรัฐบาล รัฐบาลก็จะรับข้อสังเกตนี้ไปด้วย ซึ่งมีการระบุว่า “คณะรัฐมนตรีคือรัฐบาลควรพิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยเร็ว” ซึ่งทำให้จะหมายรวมไปถึง 3 แนวทางในการนิรโทษกรรม มาตรา 110 และมาตรา 112 เข้าไปด้วย และยังต่อท้ายอีกด้วยว่าการดำเนินต้องรายงานให้สภาทราบ ว่าได้ทำไม่ทำ หรือทำอย่างไร เพื่อให้สภาได้ติดตามความคืบหน้าได้ต่อไป

“ผลจากรายงานและข้อสังเกตของ กมธ. จะทำให้รัฐบาล หรือกลไกอื่น อาจนำรายงานฉบับนี้ ถ้าผ่านสภา ตลอดจนข้อสังเกตของ กมธ. ไปเป็นสารตั้งต้นในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามความผิดในมาตรา 110 และ 112 ต่อไปได้ และหากสภาเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ สุดท้ายสภาอาจกลายเป็นตราประทับความชอบธรรมในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจากการกระทำความผิดตาม มาตรา 110 และ 112 ต่อไปในอนาคตได้ กระผม และพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้และไม่เห็นควรส่งรัฐบาลรับไปพิจารณา” นายจุรินทร์ กล่าว

โดยนายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ชี้แจงว่า ในแง่หนึ่งของการยุติธรรมคือ การใช้อำนาจ การลงโทษตามกฎหมาย แต่อีกแง่หนึ่งคือ การใช้ความเมตตา การให้อภัย ก็เป็นอีกแง่หนึ่งของความยุติธรรมเช่นเดียวกัน อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องแก้ไขความเข้าใจผิดคือ มาตรา 112 กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญไทยว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะล่วงละเมิดมิได้ จะฟ้องร้องหรือกระทำการทางกฎหมายที่เป็นการล่วงอำนาจพระองค์ไม่ได้ แต่มาตรา 112 กับองค์พระมหากษัตริย์เป็นคนละเรื่องกัน เรายังสามารถพูดคุยถึงเรื่องของกฎหมายที่ปกป้ององค์พระมหากษัตริย์ได้ซึ่งจะต้องแยกกัน โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในลักษณะที่ผู้ถูกร้องกระทำอยู่ แต่ศาลก็ยังบอกว่าหากเป็นกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบก็สามารถทำได้

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ชี้แจงว่า ประเทศไทยเคยมีการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 มาแล้ว ในกรณีการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เมื่อปี 2519 และเจาะจงนิรโทษกรรมให้กับคดีความ 2 คดี คือ คดีที่ศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญา ซึ่งทั้งสองคดีนี้เป็นคดีที่จำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีในหลายคดีรวมถึงมาตรา 112 ด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าระบบกฎหมายไทยเคยมีเรื่องของการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 มาแล้ว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือล้มล้างการปกครองใด ๆ ทั้งสิ้น

“อัครเดช” อภิปรายยืนยัน จุดยืนพรรครทสช.ไม่รับรายงานนิรโทษกรรม ต้องไม่เหมารวมผิด ม.112

ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายในวาระการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ มีมติพรรคไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากเนื้อหาในรายงานยังไม่สมบูรณ์ ชัดเจน และได้ขอให้ทางกรรมาธิการได้นำกลับไปทบทวนใหม่ ผ่านกลไกของวิปรัฐบาล แต่ทางคณะกรรมาธิการก็นำรายงานฉบับดังกล่าวนำเสนอสู่ที่ประชุมสภา ให้ได้อภิปรายและลงญัตติกันอีกครั้ง เหตุที่พรรครวมไทยสร้างชาติไม่เห็นชอบ เพราะรายงานฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องด้วยรายงานฉบับดังกล่าวได้เสนอความเห็นของการนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำความผิดในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไว้ 3 แนวทางคือ

1. ไม่เห็นชอบให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112
2. เห็นชอบให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112
3. เห็นชอบให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 โดยมีเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการที่ตั้งมาโดยเฉพาะกำหนดขึ้น

พรรครวมไทยสร้างชาติพิจารณาแล้วมีความคิดเห็นว่า เป็นการรายงานแบบปลายเปิด ถ้ามีการลงมติเห็นชอบ หรือรับทราบรายงานนี้ไปแล้ว อาจจะสร้างความเป็นธรรมให้กับรัฐบาลได้ เพราะว่าทางคณะกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้ได้เห็นชอบแล้ว โดยสภาแห่งนี้โดยมีให้พิจารณา 3 แนวทาง รัฐบาลจะเลือกทางใดทางหนึ่งก็ได้ ซึ่งขัดกับจุดยืนของพรรค ที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112

พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ปฏิเสธในเรื่องของการนิรโทษกรรม ได้ทำการเสนอร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข ซึ่งในขณะนี้ได้บรรจุเข้าสู่สภาแล้ว กฎหมายฉบับนี้ต้องการนิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับความผิด ซึ่งมีเหตุจูงใจจากการเมือง แต่ไม่รวม 3 มูลเหตุ ดังนี้

1. การละเมิดกฎหมายมาตรา 112 ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเรายืนยันที่จะคัดค้านถึงที่สุด
2. คดีที่เกี่ยวกับทุจริต คอร์รัปชัน เพื่อต่อต้านการทุจริต เราจะสร้างการเมืองใสสะอาด
3. ความผิดทางอาญาร้ายแรง เช่น การฆาตกรรม หรือการทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต

“ดังนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติจะขอสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับ รทสช. แต่ไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ ซึ่งได้สร้างปลายเปิด ซึ่งอาจจะสร้างความไม่สงบให้กับสังคมในอนาคตได้ จึงขอเน้นย้ำว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยการลงมติของสมาชิกทั้ง 36 คน ยืนยันไม่รับรายงานฉบับดังกล่าวของคณะกรรมาธิการฯ” นายอัครเดช กล่าว

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ

โดยในที่ประชุมยังได้ผลัดเปลี่ยนการอภิปรายมีทั้งเห็นด้วยและท้วงติง ขณะที่ซีกรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย แสดงความพร้อมที่จะลงมติ แต่ยังปรากฏว่าทาง กมธ. จะขอชี้แจงต่อ ซึ่งนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมพยายามไกล่เกลี่ยขอไม่ให้ กมธ. ชี้แจง เพราะยังมี กมธ. อีกหลายคน ไม่เช่นนั้นจะไม่จบ ก่อนที่จะสั่งปิดประชุมในเวลา 16.48 นาฬิกา ทำให้ต้องเลื่อนโหวตรายงานไปเป็นสัปดาห์หน้าแทน