วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบ 51 ปี ของชัยชนะในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้กล่าวปราศรัยในพิธีรำลึกตอนหนึ่งความว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นวันที่ประชาชนชาวไทย ผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเผด็จการ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ

ผู้นำรัฐสภากล่าวว่า แม้การต่อสู้ในวันนั้นแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนผู้กล้า แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจและปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย 14 ตุลาคม จึงเป็นบทเรียนสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในขณะที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน บอกว่า ตนเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ในโอกาสครบ 51 ปีนี้ เรามีภาระที่จะต้องสืบสานต่อไป

นั่นก็คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อ 51 ปีก่อน เป็นการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เผด็จการทำหล่นหายไปนานกว่า 10 ปี จากรัฐประหารหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2500 จนถึง 2514 มีการร่างรัฐธรรมนูญอยู่นานกว่าสิบปี จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2511 ตามด้วยการเลือกตั้ง 2512 และรัฐประหาร 2514

รัฐประหาร 2514 เป็นการยึดอำนาจตนเองของรัฐบาลเผด็จการก่อให้เกิดขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กลุ่มผู้ออกมารณรงค์เรียกร้องโดนจับไป 13 คน นำไปสู่การลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษา ประชาชน จนกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516

การต่อสู้จบลงด้วยชัยชนะของประชาชน ประเทศเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2517 เป็นฉบับที่ 10 ของประเทศ รัฐธรรมนูญไทยประสบชะตากรรมโดนฉีกทิ้งแล้วร่างขึ้นใหม่ เป็นฉบับเผด็จการ สลับด้วยประชาธิปไตย จนถึงฉบับ 2560 ฉบับที่ 20 เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เผด็จการครึ่งใบ

รัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับฉายาเป็น “ฉบับพิสดาร” เพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร มีบทบัญญัติหลายประเด็น ที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เช่นให้ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร มีสิทธิเลือกหัวหน้ารัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องชี้ขาดด้วยเสียงข้างน้อยของวุฒิสภา

...

แม้แต่ในบรรดา สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่พรรคคนละพรรค ยึดแนวทางการเมืองที่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นเสรีนิยม อีกฝ่ายเป็นอนุรักษ์นิยม อาจมีบางส่วนเป็นอำนาจนิยม คัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบหัวชนฝา อ้างว่า แก้เพื่อพรรคหรือ สส. ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญจะตายไหม แต่เคราะห์ดียังมีเสรีนิยมที่ยืนยัน เช่น เพื่อไทยและพรรคประชาชน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม