พรรคประชาชน ยื่นร่าง พ.ร.บ.รางฯ ประกบร่าง ครม.-พท. “สุรเชษฐ์” กังวลร่าง ครม. วนกลับไปนับหนึ่งใหม่แล้ว ชี้ร่าง พท.ยิ่งหนัก แก้ไขจากร่างประนีประนอมหลายจุด จัดอำนาจไม่สมดุล-ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน ถามเป็น “ร่างทรง” ของใครกันแน่ ด้าน “อนุสรณ์” ยัน ร่างของ “มนพร” ยกระดับระบบขนส่งทางรางไทย

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง นำเสนอโดย นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดยมีการพิจารณาพร้อมกับร่างฯ ที่ยื่นเสนอโดยคณะรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย พร้อมกันรวมทั้งหมด 3 ร่าง

นายสุรเชษฐ์ได้อภิปรายเสนอหลักการและเหตุผลของร่างในส่วนของพรรคประชาชนว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางจะเป็นกฎหมายใหม่ แต่ก็มีการเริ่มร่างกันมาตั้งแต่ปี 2559 เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 โดยมีกรมการขนส่งทางรางเป็นผู้ผลักดันหลัก เนื่องจากมีกรมแล้วแต่ยังไม่มีกฎหมายมอบอำนาจให้ และได้มีการยื่นเข้าสู่สภาในชุดก่อนหน้านี้ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งสภาในเวลานั้นได้มีมติรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว

ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าว ซึ่งตนก็ได้เข้าไปร่วมในฐานะกรรมาธิการ และยังมีประเด็นปัญหาที่ค้างคาใจมาตลอดถึงความสมเหตุสมผลของโครงสร้างอำนาจ ตนและพรรคประชาชนจึงได้ยื่นร่างดังกล่าวประกบเพื่อให้สภาแห่งนี้พิจารณา

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในวาระการประชุมนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ร่าง คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี, ร่างของพรรคเพื่อไทย โดย นางมนพร เจริญศรี เป็นผู้เสนอ และร่างของพรรคประชาชน โดยหลักแล้วการทั้ง 3 ร่างระบุไว้เหมือนกัน คือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางราง ดังนั้นการลงมติในวันนี้จึงไม่มีเหตุผลให้มีการคว่ำร่างใดร่างหนึ่ง แต่คำถามที่สำคัญ คือ ควรเอาร่างไหนเป็นร่างหลัก และความแตกต่างของทั้ง 3 ร่างมีอยู่อย่างไรบ้าง

...

ในด้านของที่มานั้น ร่างของคณะรัฐมนตรีถือเป็นร่างดั้งเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งมาให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 และไม่เหมาะเป็นร่างหลัก เพราะสภาชุดที่แล้วโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแก้ไขในรายละเอียดจนได้ร่างที่ประนีประนอมแล้ว เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาชุดที่แล้วตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 แต่ถูกร่าง พ.ร.บ.กัญชา แซงคิวขึ้นมาจนทำให้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางเป็นอันตกไปเมื่อสภาสิ้นอายุลง และต่อมารัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่ได้นำมาพิจารณาตามกรอบ 60 วัน จนทำให้ร่างฉบับประนีประนอมดังกล่าวเป็นอันตกไป ดังนั้นการกลับไปใช้ร่างดั้งเดิมจากสมัย พล.อ.ประยุทธ์ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอมาจึงไม่เหมาะสม เพราะเป็นการวนกลับไปที่เดิม เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปถึงร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยว่า ตนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็น “ร่างทรง” ของใครก็ไม่ทราบ แต่ที่ทราบ คือ มีการเปลี่ยนแปลงจากร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญโดยสภาฯ ชุดที่แล้วไปเยอะ ในลักษณะที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากขึ้นเมื่อเทียบกับร่างของคณะรัฐมนตรี ทำให้กฤษฎีกาไม่กล้ารับรองให้เป็นร่างของคณะรัฐมนตรีแต่เลือกที่จะส่งร่างดั้งเดิมมาในนามคณะรัฐมนตรี สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คือ ใครเป็นคนร่างให้นางมนพรมาแปะป้ายว่า เป็นของพรรคเพื่อไทย เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางรางและ/หรือตัวแทนจากบริษัทใหญ่ด้านรางที่มีอิทธิพลมากในคณะรัฐมนตรีนี้หรือไม่

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามตัวหนังสือในร่างพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงจากร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรีที่มีการยื่นมาทั้ง 2 รอบ และไม่ได้เหมือนกับร่างฉบับประนีประนอมของคณะกรรมาธิการวิสามัญในสภาชุดที่แล้ว เพราะมีข้อความหายไปกว่า 20 มาตรา อีกทั้งมีการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญในหลายมาตรา สุดท้ายเหลือเพียง 145 มาตราจาก 164 มาตรา ในร่างประนีประนอม

“เรื่องรางเป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวพันกับดีลสัมปทานมูลค่านับแสนล้านบาท อยากให้มีการตอบคำถามกันให้ชัดเจนว่า ที่ท่านไปเปลี่ยน เปลี่ยนอะไรนอกรอบ มีเหตุผลอย่างไรที่เปลี่ยน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนร่างของพรรคประชาชนนั้นถือเป็นร่างประนีประนอมพร้อมจุดยืนอย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นร่างที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญในสภาชุดที่แล้วมาแล้ว โดยคงไว้ที่ 164 มาตรา และมีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยตามเอกสารการสงวนความเห็นรายมาตรา โดยไม่มีการยัดไส้หรือแอบตัดบางมาตราทิ้งไป และมีเหตุผลในการขอแก้ไขตามที่แถลงไว้อย่างชัดเจน

หากสภาใช้ร่างนี้เป็นร่างหลัก สส. รัฐบาลก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกมาตราอยู่ดี ผ่านเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการ ตนจึงขอเสนอให้นำร่างฉบับของพรรคประชาชนเป็นร่างหลัก เพราะไม่ต้องเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ในการกลับไปเริ่มนับหนึ่งจากร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องระแวดระวังการยัดไส้หรือแอบตัดบางมาตราทิ้งไปโดยร่างทรงของใครก็ไม่ทราบ

“อนุสรณ์” มั่นใจ ร่าง พ.ร.บ. ขนส่งทางรางฯ ของ “มนพร” ชู 6 ประเด็นยกระดับระบบขนส่งทางรางไทย

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงความเชื่อมั่นว่าร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ของ นางสาวมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม จะผ่านการพิจารณาในสภาแน่นอน พร้อมยก 6 ประเด็นสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งทางรางของไทยให้ทันสมัยและเป็นสากล นายอนุสรณ์เน้นว่า กฎหมายนี้จะช่วยยกระดับและสร้างมาตรฐานกลาง ให้ระบบขนส่งทางรางปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง กำหนดนโยบายและอัตราค่าบริการอย่างโปร่งใส เปิดทางให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อลดการผูกขาด และยังเน้นถึงการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสาร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมเรียกร้องให้มีกลไกตรวจสอบที่เป็นธรรม สุดท้ายคือ การคุ้มครองผู้ประกอบการอย่างสมดุล เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

“ร่างนี้จะยกระดับมาตรฐานการขนส่งของไทยให้ทัดเทียมสากลได้แน่นอน” นายอนุสรณ์กล่าว