“นายกฯ อิ๊งค์” สั่งปรับปรุงฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง หลังพบซ้ำซ้อนหลายหน่วยงาน โฆษกรัฐบาลเผย ครม. จัดแพ็กเกจใหญ่ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน-ผู้ประกอบการ พร้อมลดภาษี ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเรื่องการปรับปรุงฐานข้อมูลของกลุ่มเปราะบางและคนพิการ สืบเนื่องจากการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ทำให้ทราบว่าข้อมูลไม่มีความเชื่อมโยงกัน หลายหน่วยงานมีความซ้ำซ้อนกัน จึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการรวบรวมจัดทำข้อมูลที่เรียกว่าบิ๊กดาต้า ดังนั้น ไม่ว่าจะติดต่ออะไรจะเป็นการคีย์เลขบัตรประชาชนไปก็จะทราบข้อมูล ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่ออนไลน์เข้าหากัน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังมีข้อสั่งการในที่ประชุม โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัยในหลากหลายพื้นที่กว่า 50 จังหวัด หลังจากรัฐบาลฟื้นฟูบรรเทาปัญหาต่างๆ แล้ว ได้มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 9,000 บาทไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลสั่งการให้ทุกหน่วยเพิ่มเติมในการฟื้นฟูชีวิต รายได้ และเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยกระทรวงการคลังได้เร่งรัดมาตรการด้านการเงินผ่านธนาคารของรัฐ เพื่อเร่งบรรเทาทุกข์ของผู้ประสบภัยกลุ่มต่างๆ ในการซ่อมแซมบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน และฟื้นฟูกิจการต่างๆ หรือการช่วยเหลือล้างดินโคลนของบ้านที่ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 10,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ การยกเว้นการเก็บค่าน้ำประปาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน และค่าไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะลงรายละเอียดได้ว่ามีกี่ครัวเรือน

...

นอกจากนี้ ยังมอบให้กระทรวงการคลังดูมาตรการช่วยเหลือเรื่องของภาษี การลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูบ้านพักอาศัย และกิจการต่างๆ โดยมีรายละเอียดคือ

1. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล

2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัดสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทประกัน เพื่อชดใช้ความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งเงินที่ได้จากรัฐบาล และเงินชดเชยไม่ต้องนับไปเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี

3. ยกเว้นอากรศุลกากรให้กับผู้บริจาคให้กับผู้ประสบภัย

4. พื้นที่ที่เช่ากับกรมธนารักษ์ และที่ราชพัสดุ จะลดค่าเช่าให้กับผู้ประสบอุทกภัยหรือการเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากเสียหายบางส่วนจะยกเว้น 1 ปี หากเสียหายทั้งหลังจะยกเว้นค่าเช่าให้ 2 ปี ส่วนการเช่าเพื่อการเกษตรยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติเกิน 3 วัน จะพิจารณาลดค่าเช่าเป็นรายเดือน

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการคลังยังได้จัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ตามวงเงินที่ได้อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี โดยแต่ละรายจะมีวงเงินประมาณ 40 ล้านบาท รายละเอียดสอบถามได้จากธนาคารที่ประชาชนใช้บริการอยู่ ทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งที่ร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังมีโครงการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บยส.) ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยวงเงินต่อราย 10,000-2,000,000 บาท ค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี โดยธนาคารออมสินยังมีการช่วยเหลือลูกหนี้เดิม จะมีการพักชำระหนี้เงินต้นโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ถือบัตรเครดิตจะมีการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 3% ใน 3 รอบบัญชี ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องชำระมากกว่า 3% หรือชำระเต็ม

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลูกหนี้ที่มีสถานะปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวนด้วย อีกทั้งยังมีมาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับโครงการเสริมสภาพคล่องและการอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ในวงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรก กระทรวงการคลังจะไม่เก็บอัตราดอกเบี้ย แต่หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ย MRR หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตรายการลงทุนในการซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการเกษตรต่างๆ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR 2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะมีมาตรการในการช่วยเหลือด้วย ส่วนธนาคารอิสลามและอีกหลายธนาคารจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า มาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยจะต้องนำกลับเข้ามายังที่ประชุม ครม. คือการออกระเบียบและกฎหมายต่างๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะมีการกำหนดให้รายจ่ายค่าอุปกรณ์ตกแต่งบ้านหรือการก่อสร้างต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการของกระทรวงการคลัง.