“วันนอร์” ประธานสภาฯ ย้ำ ต้องมีคนมาร้อง สภาถึงเดินหน้าสอบ ชี้ แม้เรื่องเก่า 2 ปี แต่หากยังเป็น กมธ.ปัจจุบัน ก็สอบได้ เผย สั่งอาญา 2 เคส พวกแอบอ้าง ปัดตั้งกรรมการกลางสอบ ชี้ ทำตามขั้นตอน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวที่รัฐสภา ถึงความคืบหน้ากรณีตรวจสอบคลิปเสียงนักการเมืองเรียกรับผลประโยชน์ผู้บริหารดิไอคอนกรุ๊ป ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ว่า เมื่อเช้าเรียกเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะผู้ดูแลความปลอดภัยของสภามาคุยหลายเรื่อง กรณีคลิปเสียงเราฟังแล้วไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร ดังนั้น ถ้ามีผู้ร้องมาหรือมีการอ้าง กมธ. และ กมธ. แจ้งว่าได้รับความเสียหาย สภาก็ต้องดำเนินการต่อไป และไม่ใช่แค่เฉพาะ กมธ. ถ้าประชาชนได้รับความเสียหายจากคลิปเสียง โดยเฉพาะคู่สนทนา ถ้าเขาเสียหายและมาแจ้งสภา ทางสภาต้องดำเนินการ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ กมธ. ในชุดนั้นๆ ว่าเกิดความเสียหายแล้ว เราก็ต้องดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีคลิปเสียงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นสภาชุดเก่าจะตรวจสอบอย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ ตอบว่า หากเกี่ยวกับ กมธ.ชุดที่แล้ว ถือว่าพ้นสภาพไปแล้ว แต่หากมีความต่อเนื่อง หรือบุคคลจาก กมธ.ชุดที่แล้ว มาเป็น กมธ. ในสภาชุดปัจจุบัน ก็สามารถตรวจสอบได้ แต่หากบุคคลนั้นพ้นตำแหน่งไปแล้ว และมีผู้เสียหาย ก็ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป ยอมรับว่าเรื่องคลิปเสียงเราไม่สามารถจะระบุได้ว่าเป็นของใคร นอกจากต้องมีผู้มาร้องเพื่อยืนยัน สภาถึงจะตรวจสอบผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งอะไรที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่สภาดำเนินการได้ ต้องทำเพื่อประโยชน์ประชาชน และเพื่อความเชื่อถือในการทำงานของสภา เพราะ กมธ. ทำงานเพื่อช่วยประชาชน แต่ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือก็ไม่เป็นประโยชน์ ฉะนั้น ต้องรักษาความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบนิติบัญญัติให้ได้ เราพยายามเต็มที่ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องไปติดคุกติดตาราง แต่อย่างน้อยที่สุดต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและระบบของฝ่ายนิติบัญญัติ
...
สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องคนที่ไปแอบอ้างใน กมธ. บ้าง แอบอ้างมาถ่ายรูปในรัฐสภาบ้าง เพื่อใช้ประโยชน์ในการไปเรียกร้องในเรื่องต่างๆ จากบุคคลภายนอกที่ไม่รู้เรื่องแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายนั้น ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว 2 เรื่อง คือ 1. กรณีสุภาพสตรีที่แต่งกายชุดข้าราชการ ได้แจ้งความตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว และกำลังติดตามอยู่ และ 2. กรณีชายที่ไปถ่ายรูปในห้องประชุม ดูจากภาพวิดีโอเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสภามีวาระสำคัญของการประชุมสภาคือเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และคนที่ 2 ซึ่งดำเนินการจบแล้ว สภาก็ปิดการประชุม ช่วงที่ปิดเจ้าหน้าที่กองการประชุมกำลังนำเอกสารการประชุมต่างๆ ที่แจกเก็บ และนำเอกสารที่จะประชุมวันต่อไปวางไว้ ในช่วงนั้นชายคนดังกล่าวเข้าไปครู่เดียว ไม่กี่นาที และถ่ายรูปเพื่อให้เห็นว่าเขาอยู่ในห้องประชุม ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา และต้องติดตามต่อไปทั้ง 2 กรณีเป็นบุคคลที่มีคดีตามศาลต่างๆ เป็น 10 คดีแล้ว และถือโอกาสมาหาเรื่องที่สภาอีก สภาจึงดำเนินการแจ้งความเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยก็ 2 คดี เพราะเป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่อนุญาตและติดบัตรแปลกปลอมเข้ามา ทั้งนี้ ตนได้กำชับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสภาไปว่าต้องเข้มงวดเรื่องบุคคลภายนอกที่เข้ามามากยิ่งขึ้น
“ผมจะออกหนังสือถึงประธาน กมธ.สามัญทั้ง 35 คณะ หรือประธาน กมธ.วิสามัญแต่ละคณะ ให้ตรวจสอบบุคคลต่างๆ ที่ตั้งเป็นที่ปรึกษา หรือคณะทำงานของ กมธ.นั้นๆ ว่ามีบุคคลใดที่ไม่น่าเชื่อถือ ขอให้ถอดถอนจากกรรมาธิการ เพราะถ้าเรื่องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กมธ.ชุดใด ถ้ามีที่ปรึกษาหรือคณะทำงานไปแอบอ้างเกิดความเสียหายแล้ว คนแต่งตั้งคือประธาน กมธ. จะต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยที่สุดคือประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา ที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวเขาด้วย ทั้งครอบครัว สส. ครอบครัวของ กมธ. หรือประธาน กมธ. ไปทำความเสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าร้ายแรงก็ส่งไปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าไม่ร้ายแรงก็มีบทลงโทษของสภาตามขั้นตอน ตั้งแต่ตักเตือน หรือไล่ออก ถ้าไม่ใช่ สส. และยังมีมาตรฐานลงโทษต่างๆ อีก แต่หากเป็นการทำผิดอาญา เราต้องดำเนินการไม่ละเว้น โดยให้ตำรวจดำเนินการต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชนที่หลงเชื่อว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภา ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ได้มีมากมายอะไร แต่ถ้ามีเราก็ต้องแก้ไข”
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบุคคลที่แอบอ้างจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาหรือไม่ เพราะหากให้ กมธ. ตรวจสอบกันเอง อาจจะมีการละเว้นให้กันได้นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จริงๆ ในสภาเรามี กมธ. ดำเนินการเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว ถ้าเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตหรือไปแอบอ้าง กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ก็เข้ามาตรวจสอบได้ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค กมธ. นั้นก็เรียกผู้เกี่ยวข้องมา แต่ถ้านอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของ กมธ. ก็ส่งมาให้สภา ทางสภาจะดำเนินการว่าถ้าผิดอาญาก็ส่งเรื่องให้ตำรวจ ถ้าผิดจริยธรรมก็ดำเนินการให้คณะกรรมการจริยธรรมสอบสวนต่อไป ซึ่งในคณะกรรมการมีตำรวจ อัยการ และอดีตผู้พิพากษาเป็นกรรมการอยู่แล้ว แต่ขั้นตอนอาจจะช้ากว่าการไปร้องที่ ป.ป.ช. โดยตรง ถ้าเป็นกรณีความเสียหายจากการทุจริต ซึ่งในสมัย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตประธาน กมธ.ป.ป.ช. ก็ได้ไปร้องเรียนที่ ป.ป.ช. โดยตรง และมีผู้ถูกลงโทษ 1-2 ราย.