มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดเข้มข้น และต่อเนื่องกันหลายวัน กรณีทนายความคนหนึ่งร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยเรื่องที่นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ถูกกล่าวหาทำผิดหลายเรื่อง รวมทั้งล้มล้างการปกครองระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยในหลายประเด็น

สว.พันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ ชื่อ นันทนา นันทวโรภาส โพสต์ข้อความถามว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความพิสดารของรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่มีผู้ร้องเพียงคนเดียวตั้งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ในเรื่องที่สำคัญยิ่งเช่นนี้ โดยไม่ผ่านการกลั่นกรองของกระบวนการยุติธรรม กำลังสั่นคลอนเสถียรภาพของระบบการเมืองไทยอย่างถึงแก่น

ก่อนหน้านี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่าการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณกับพรรคเพื่อไทย เลิกการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เทียบเท่าความผิดฐานกบฏ

คำร้องพยายามให้เข้าเกณฑ์การ วินิจฉัย การยุบพรรคก้าวไกล โดยใช้คำ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” เหมือนกัน ทั้งยังกล่าวหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เสนอแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ประเด็นที่ขอแก้คือเรื่องจริยธรรม เพื่อให้ชัดเจนไม่มีปัญหาตีความ

ปัญหาการเมืองที่เถียงกันอยู่ในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายพรรคเพื่อไทยแกนนำของรัฐบาลกับพรรคประชาชน ผู้นำฝ่ายค้านในสภา มีความเห็นสอดคล้องกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ (ยกเว้นหมวด 1 กับหมวด 2) และเห็นว่าควรแก้ไขรายมาตราบางประเด็น แต่พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่คัดค้านการแก้ไขเรื่องจริยธรรม

...

ฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไข อ้างว่า เป็นการทำลายระบบตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ และเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพรรคหรือเพื่อ สส. แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขไม่ได้เสนอให้ยกเลิกระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุล ยังคงตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อไปอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาช้านาน นั่นก็คือพรรคฝ่ายค้าน (นิติบัญญัติ) ตรวจสอบรัฐบาล (อำนาจบริหาร)

เรื่องที่ปฏิบัติกันมาจนกลายเป็น ประเพณี และประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกก็ปฏิบัติ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเสนอญัตติให้รัฐบาลชี้แจงปัญหา โดยไม่ลงมติและเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ส่วนอำนาจบริหารถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติด้วยการยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนตัดสิน

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม