วันมหาวิปโยค 14 ตุลา กรณีศึกษา การเมืองไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมี รัฐธรรมนูญการปกครองเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถือเป็นรูปแบบที่เป็นรูปธรรมการเมืองการปกครองของประเทศที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ปี 2475 ตลอดระยะเวลา กว่า 90 ปี ไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญกี่ฉบับ มีการยึดอำนาจปฏิวัติรัฐประหารกี่ครั้ง สิ่งที่ต้องนำกลับมาคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยก็คือรัฐธรรมนูญการปกครอง บางครั้งก็อ้างว่าเป็นฉบับประชาชน บางครั้งก็เป็นฉบับปราบโกง แต่ในเนื้อหาสาระยังคงไว้ ซึ่งพระราชอำนาจ โดยไม่มีการแก้ไข การร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งจะมีเป้าหมายที่แท้จริงแตกต่างกันซุกเอาไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อาทิ ต้องการกีดกันคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะกลับเข้ามามีอำนาจ โดยอาศัยช่องทางประชาธิปไตย หรือการรักษาอำนาจหรือสืบทอดอำนาจที่ได้มาจากการยึดอำนาจ ซึ่งหมายถึงพลเรือนที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรมด้วย ไม่เฉพาะเจาะจง กองทัพ หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง

องค์ประกอบที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสากล คือ อำนาจที่เป็นอิสระระหว่างกัน เพื่อการถ่วงดุลอำนาจของ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ แต่ในรัฐธรรมนูญของไทย ที่กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้ว กลับหมกเม็ดให้อำนาจเหล่านี้ เกิดความขัดแย้งมากกว่าการตรวจสอบถ่วงดุล เช่น สว.มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งในองค์กรอิสระ เป็นต้น

ข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาที่ พรรคพลังประชารัฐ โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ออกตัวแรง เป็นกรณีที่อดีตทนายความของพุทธะอิสระ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำและ พรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งเป็นการอ้างถึงพฤติกรรมของ อดีตผู้นำทักษิณ ชินวัตร ในการเข้ารับการรักษาตัวระหว่างถูกคุมขัง และการครอบงำพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก

...

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของ อดีตทนายความพุทธะอิสระ ในวันนี้ ต่างจากการยื่นเรื่องร้องเรียนยุบพรรคก้าวไกลที่ถูกร้องเรื่องมีพฤติกรรมในการล้มล้างการปกครองในวันนั้น ผู้ร้อง ถูกขุดคุ้ยความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เกิดข้อกังขาในสังคมต่อมา ที่มองว่ามูลเหตุเกิดจากความขัดแย้งเฉพาะตัวของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ

ฟางเส้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่สมควรรับคำร้องเพราะไม่ได้เกิดปัญหาจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้ก็จบไปอย่างจุ๋มจิ๋ม ในมุมลับของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่อยู่ที่ลายลักษณ์อักษรในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเสมอไป.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม