ต้องถือว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับ ประเทศไทย ที่ได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ให้เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ด้วยคะแนนท่วมท้น 177 เสียง จากสมาชิกยูเอ็นทั้งหมด 193 ประเทศ  คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ รองจากคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเป็นองค์กรผู้ดูแลสันติภาพของโลก

แม้แต่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นประเทศที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งลงแข่งขันพร้อมกับไทยก็สอบตก แม้จะมีเสียงสนับสนุนถึง 117 เสียง ประเทศไทยก็เคยสอบตกหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือแม้แต่ในช่วงที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้ง

แม้จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 และมีการเลือกตั้งในปี 2562 ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ สว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร มีสิทธิเลือกหัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายอำนาจนิยม อาจอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ฝ่ายเสรีนิยมที่เป็นประชาธิปไตยแท้ไม่ยอมรับ

หลังจากที่ สว.แต่งตั้งอยู่ครบวาระ สว.คณะใหม่ที่มาจากการเลือกกันเองเข้ามาแทน ไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ประเทศไทยจึงถูกมองว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้ไทย “มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” และมีกินมีใช้

ชัดเจนที่สุด นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ เมื่อเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอด ผู้นำอาเซียนที่เวียงจันทน์ นครหลวงของลาว ระหว่างวันที่ 8 ถึง 11 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทย เป็นสุภาพสตรีเพียงคนเดียวและอายุน้อยที่สุด  ได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้นำกลุ่มอาเซียนประเทศอื่นๆ เช่น จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย

...

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลส่วนใหญ่หรือเป็นประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และตัดสินกันด้วย “บัตรเลือกตั้ง” (ballot) ไม่ได้ตัดสินกันด้วยลูกปืน (bullet) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างน้อย 12 ครั้ง ยังไม่นับรวมกับรัฐบาลที่ไม่สำเร็จอีกกว่าสิบครั้ง

ในการพบกันแบบทวิภาคี ระหว่าง นายกรัฐมนตรีไทยกับประธานาธิบดี ยุน ซ็อก ย็อล ที่เวียงจันทน์ ผู้นำเกาหลีใต้สดุดีผู้นำไทยที่เสนอให้จัดตั้งองค์การวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ อำนาจที่ทรงอำนาจมาก ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้กำลัง น่าจะได้แก่ “ประชาธิปไตย” ที่ทั่วโลกยอมรับ.