“จิรายุ” เผย “แพทองธาร” จ่อนั่งประชุมสรุปแก้น้ำช่วยประชาชน ด้าน “สรวงศ์” บอก “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ดีเดย์ 1 พ.ย.นี้ ตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 800 บาท

วันที่ 13 ตุลาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า วันที่ 15 ตุลาคม เวลา 15.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) เพื่อติดตามสรุปสถานการณ์ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) รวมทั้งแผนการในการฟื้นฟูทั้งทางด้านกายภาพและการวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดต่างๆ ที่ประสบอุทกภัย โดยในการประชุม ศปช. วันที่ 13 ต.ค. ได้หารือถึงแนวทางการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในภาคเหนือตอนบน โดยขอให้เร่งฟื้นฟูกลับเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 31 ต.ค. และจากที่ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เปิดรับฟังข้อเสนอและการขอรับความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการ ที่ส่วนใหญ่ขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งจัดแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ ทุกข้อเสนอรัฐบาลจะเร่งพิจารณาเพื่อให้การเยียวยาตรงจุดมากที่สุด และยังมีการนำเสนอโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” เป็นโครงการนำร่องเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวปลายปีนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ซึ่งทั้ง 2 จังหวัด มั่นใจและยืนยันความพร้อมที่จะเปิดจังหวัดในด้านกิจกรรมรณรงค์การท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมๆ กันในต้นเดือน พ.ย.นี้

ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ถึงแคมเปญ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบอุทกภัย ว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงรายและเชียงใหม่ รับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ จึงนำข้อมูลเพื่อมาแก้ไขปัญหา บางส่วนใช้งบของกระทรวง และบางส่วนต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จึงเสนอโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” จะคลิกออฟได้วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โครงการนี้ยังรวมไปถึง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยทาง ททท. จะออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 800 บาทและนักท่องเที่ยวออกเองอีกครึ่งหนึ่ง ครั้งนี้จะใช้งบประมาณของ ททท. ไปก่อน หากประสบผลสำเร็จก็จะมีการเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด ส่วนมาตรการอื่น เช่น การปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เรื่องนี้เตรียมที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่จากการรับฟังจากผู้ประกอบการหลายส่วน มีข้อเสนอแนะว่ายังมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก จึงต้องมีการกลับมาปรับแก้กันในเร็วๆ นี้ เพื่อที่จะปรับแก้ไขให้ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึงในแคมเปญนี้ ซึ่งยังไม่สามารถที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ได้ เพราะมีบางจุดที่จะต้องนำกลับมาแก้ไขและเปลี่ยนแปลง

...