“ธนาธร” ไม่ออกความเห็น หลัง “ธีรยุทธ” ร้องเรียนพรรคเพื่อไทย ชี้ ทุกพรรคมีรูปแบบการทำงานของตัวเอง ด้าน “วิโรจน์” ไม่เห็นด้วยทำลายพรรคการเมือง ควรใช้กลไกสภาตรวจสอบ

วันที่ 12 ตุลาคม 2567 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลิกการครอบงำพรรคเพื่อไทย ซึ่งลักษณะคำร้องมีความยึดโยงมาจากคดีพรรคก้าวไกลนั้น นายธนาธร ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้ติดตามการเมืองรายวัน ตอนนี้ไม่ได้เห็นเนื้อหาคำร้อง จึงไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ โดยผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงความยึดโยงไปถึงการร้องยุบพรรคก้าวไกล นายธนาธร กล่าวว่า ในตัวของพรรคก้าวไกล พรรคประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย ก็คงจะมีรูปแบบการทำงานของตนเอง คงไม่สามารถนำมายึดโยงกันได้

ทางด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนระบุถึง 1 ในคำร้อง 6 ข้อ ที่เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล ว่า เรื่องนั้นคงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อไป พร้อมชวนตั้งข้อสังเกตว่าเห็นความผิดปกติของการออกมาร้องในครั้งนี้ ที่มี 1 คนร้องและกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งมีหน้าที่ทำร้าย ทำลายพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตนมองว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เรามองเป็นเรื่องปกติไม่ได้ (อ่านเพิ่มเติม : เปิดคำร้องเอาผิด “ทักษิณ-เพื่อไทย” ฉบับเต็ม- “ธีรยุทธ” ลั่น ไม่ได้รับงาน “ลุงป้อม”)

...

นายวิโรจน์ ระบุต่อไป ตนคิดว่าหากจะมีการนำข้ออ้างนั้น มาร้องควรจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ตนมองไกลกว่านั้น หากพ้นจากประเด็นนี้ก็จะมีประเด็นอื่นอีก คือมี 1 นักร้อง และอีก 1 กลุ่มคน ทำร้าย ทำลาย ซึ่งก็จะสามารถทำร้าย ทำลายคนที่ประชาชนเลือกมา ซึ่งตนยืนยันว่าตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จนถึงพรรคประชาชน เราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ผิดปกติ

เมื่อถามว่าแสดงว่าการออกมาร้องนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนบุคคล สลับกันทำหน้าที่ ใช่หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนมองโดยพฤติการณ์ ส่วนกลุ่มคนนั้นขอไม่ไปเพ่งเล็งว่าเป็นใคร เราดูที่พฤติกรรม ซึ่งตนเรียกว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เคารพสิทธิของประชาชน ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ตนไม่อยากไปให้รายละเอียดว่าเรื่องนั้นหรือเรื่องนี้มีเหตุผลหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วเราก็จะรู้ แต่ตนมองในภาพใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามต่อ แสดงว่าหากมีเรื่องใดที่เกิดข้อสงสัย ควรนำมาพูดกันในสภาผู้แทนราษฎร หรือนำมาอภิปราย ใช่หรือไม่ นายวิโรจน์ ตอบว่า “ถูกต้องครับ มารวมกันเพราะมีกลไกของกรรมาธิการ มีกลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเป็นเรื่องแบบนั้นจริงนายกรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยกลไกของรัฐสภา ไม่ใช่พ้นไปด้วยกระบวนการอื่น”