“ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” หอบหลักฐาน 5,080 แผ่น ร้องศาลรัฐธรรมนูญ เอาผิด “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” อาจล้มล้างการปกครอง พร้อมแจง 6 พฤติกรรม ครอบครอง ครอบงำพรรค สมคบคิดสมเด็จฯ ฮุน เซน ยันไม่ได้รับงาน “ลุงป้อม” ไม่ได้ร่วมมือกับคนที่ยื่นองค์กรอิสระก่อนหน้านี้
วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยก่อนยื่นคำร้องนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งครบกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้ดำเนินการส่งคำร้องขอของผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องฉบับนี้ เพื่อขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
ผู้ร้องมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏตามคำร้อง 65 หน้า โดยมีพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองแบ่งได้เป็น 6 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1. ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
...
กรณีที่ 2. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯ ฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่ 3. ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
กรณีที่ 4. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
กรณีที่ 5. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
กรณีที่ 6. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยว่า ทั้ง 6 กรณีผู้ถูกร้องทั้งสองได้มีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบบพรรคการเมือง ที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศและสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลมมิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้รุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป
จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้
1. ให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
3. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
4. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
5. ให้พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
6. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
7. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบอีกจำนวน 443 แผ่น รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080 แผ่น
ปัดรับงาน “พล.อ.ประวิตร” ยันทำคนเดียว ไม่ได้ร่วมมือกับคนที่ยื่นองค์กรอิสระก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า คาดหวังหรือไม่ว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกล นายธีรยุทธ กล่าวว่า ในชั้นนี้ คงคาดหวังตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการเสียก่อน ส่วนจะเมตตาไต่สวน และเห็นเหตุประการใดหรือไม่เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ตนไม่อาจก้าวล่วงได้
ส่วนการยื่นเรื่องนี้ ได้ไปปรึกษากับนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เพราะนายไพบูลย์เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้และแจ้งหมายต่อผู้สื่อข่าว นายธีรยุทธ กล่าวว่า สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายเศรษฐา ทวีสิน ศาลรัฐธรรมนูญย้ำมาโดยตลอดในคำวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง ชัดตามที่วิญญูชน หรือตามที่สาธารณชนรับรู้รับทราบ เมื่อได้อ่านคำวินิจฉัยแล้ว สิ่งที่ตนคิดจะเป็นไปอย่างที่ตนคิดหรือตนคาดการณ์แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ จึงจำเป็นต้องขอคำปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์มีคุณวุฒิ ซึ่งเห็นแต่นายไพบูลย์ ซึ่งเคยพบปะพูดคุยจึงปรึกษาในบางประเด็น ส่วนปรึกษากับนักกฎหมายคนอื่นหรือไม่ตนไม่ขอเปิดเผย
ส่วนหลักฐานที่ยื่นวันนี้มีรูปภาพหรือคลิปประกอบ ที่นายทักษิณนอนโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ด้วยหรือไม่นั้น นายธีรยุทธ ระบุว่า ตนจะเสนอพยานบุคคล ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าคลิปเสียง เพราะหากเป็นคลิปเสียงรูปภาพหรือวิดีโอ จากที่นายไพบูลย์แสดงความเห็นไว้ว่า คลิปเหล่านั้นหากนำมาเผยแพร่โดยที่เจ้าตัวหรือผู้เกี่ยวข้องไม่ยินยอมจะผิดกฎหมาย และตนไม่ปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ผิดกฎหมาย
ส่วนพยานบุคคลคือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย หรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้ออกมาเปิดเผยว่า ได้ไปพบกับนายทักษิณ ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ นายธีรยุทธ ระบุว่า ไม่อาจก้าวล่วงศาล ซึ่งศาลเห็นอยู่แล้วว่าพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ออกมาดำเนินการตามวิถีทางของตนเอง แต่ในส่วนพยานของตนจะใช้รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งในรายงานเชื่อว่าจะมีรายละเอียด พยานบุคคลหรือพยานเอกสารอื่นที่มั่นคงตามระบบราชการ โดยจะให้ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกตัวพยานมาไต่สวน เพราะตามขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญ การไต่สวนมีความพิเศษยิ่งกว่าระบบศาลยุติธรรมเนื่องจากมีอำนาจโดยตรงในการเรียกพยานต่างๆ จากที่ใดก็ได้ที่เห็นสมควร ซึ่งตนได้ชี้ช่องในคำร้องว่ามีรายงานชิ้นนี้อยู่ และมีเนื้อหาข่าว เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ดุลยพินิจโดยตรง
ส่วนวันนี้มีการเสนอชื่อพยานในคำร้องหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ได้แจ้งกับศาล แต่ในชั้นยื่นคำร้องยังสงวนชื่อไว้อยู่ จะเปิดเผยหลังจากนี้ โดยมีพยานประมาณ 3-4 ปาก โดยไม่มีการทาบทามพยาน เนื่องจากคดีในลักษณะนี้ปรารถนาให้เป็นพยานบริสุทธิ์ ให้ศาลมีเมตตา หากติดต่อล่วงหน้าจะทำให้พยานไม่บริสุทธิ์ ส่วนศาลจะใช้อำนาจในการสั่งให้พยานมาไต่สวนหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของศาลเอง
ขณะที่ปลายทางของคดีนี้คือการยุบพรรคใช่หรือไม่ นายธีรยุทธ ระบุว่า ยังไม่อาจทราบ แต่ปรารถนาแค่ว่าบริบทบางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ กระทบสถาบันหลักถึง 2 สถาบันแล้ว จึงปรารถนาให้หยุดการกระทำเสียก่อน
ส่วนมีคลิปเหตุการณ์บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ไม่ขอก้าวล่วง คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ พร้อมปฏิเสธว่า ไม่ได้ร่วมมือกับหลายคนที่ไปยื่นองค์กรอิสระก่อนหน้านี้ และตนทำของตนคนเดียว และยืนยันว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด เป็นการทำงานเงียบๆ อยู่คนเดียว เนื่องจากการที่มาร้องเริ่มจากสำนักข่าวแห่งหนึ่งตั้งคำถามถึงความเห็นกรณียื่นคำร้อง ที่ผ่านมาเป็นเรื่องหยุมหยิมเพราะร้องทีละเรื่อง ซึ่งตนอยากให้มองเป็นจิ๊กซอว์ ถ้ามาผูกรวมกันจะเห็นอีกภาพ จึงกลายเป็นที่มาของคำร้องนี้ ไม่มีรับงานจากใคร เพราะตนก็ยื่นเงียบๆ ตั้งแต่ยื่นสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
ส่วนจะถูกมองว่า รับงานพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ นายธีรยุทธ ยืนยันว่าไม่เคยพบกับพลเอกประวิตรแม้แต่ครั้งเดียว เรายังเป็นแค่คนตัวเล็กๆ แต่ได้เล่าให้นายไพบูลย์ฟังเรื่องจิ๊กซอว์ที่ตนเห็น โดยเฉพาะจากการเห็นการยุบพรรคไทยรักธรรม และพรรคก้าวไกล ซึ่งนายไพบูลย์ก็มองว่าเป็นไปได้ ขณะเดียวกันนายธีรยุทธ กล่าวว่า ใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลประมาณ 2-3 เดือน
นายธีรยุทธ ยังเปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ได้ระบุคาดการณ์ว่ากรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 เดือน คาดว่าในวันพุธนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะมีการพิจารณาว่าจะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่