ตามประเพณีของกลุ่มอาเซียนที่ปฏิบัติกันมา ประเทศที่มีผู้นำประเทศใหม่ มักจะเดินทางไปแนะนำตัวกับประเทศสมาชิกอื่นๆ อีก 9 ประเทศ จนเป็นประเพณี แต่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร โชคดี เพราะเป็นผู้นำอาเซียนคนใหม่ที่สุด แต่เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่ลาว ก็ได้พบผู้นำอีก 9 คน

ยังอาจได้พบผู้นำระดับมหา อำนาจอีกหลายคน ที่เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่เวียงจันทน์ นครหลวงของ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 8 ถึง 11 ตุลาคม นอกจากจะได้พบกับผู้นำกลุ่มอาเซียนแล้ว ยังอาจได้พบกับผู้นำจีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่วันแรกต้องพบผู้นำเจ้าบ้าน

นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางถึงเวียงจันทน์ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ จากนายสอนไช สีพันดอน นายกรัฐมนตรี นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ และนายไชสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ คณะผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือในเรื่องที่สำคัญๆ เช่น ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ รวมทั้งปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน และการบริหารแม่นํ้าโขง ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน

การที่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร เดินทางเยือนลาวเป็นประเทศแรก ต้องถือว่าถูกต้องที่สุด เพราะไทยกับลาวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ อันยาวนานหลายร้อยปี ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ที่มีดินแดนติดต่อกันยาว บนแม่โขงสองฝั่ง

แต่ลิ้นกับฟันย่อมมีกระทบกันเป็นธรรมดา ประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ อันยาวนาน ระหว่างไทยกับลาว จึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ บางยุคบางสมัยมีสัมพันธ์อันดียิ่ง แต่ในบางยุคเกิดความขัดแย้งรุนแรง กลายเป็นสงคราม ลาวจึงเคยเป็นเมืองขึ้นไทยในยุคอาณานิคม ก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสแย่งชิงไป จนกระทั่งถึงยุคสงครามเย็น

เกิดสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นการรบกันระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์ จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และก้าวสู่ยุคสงครามเย็น ไทยอยู่กับฝ่ายโลกเสรี ลาวอยู่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยห้ามติดต่อค้าขายกับลาวนานหลายสิบปี ไม่ยอมขายแม้แต่ผงชูรสให้ลาว อ้างว่าเป็นยุทธปัจจัย จนไทยเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

...

เปลี่ยนจากรัฐบาลขวาจัดมาเป็นรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง คือรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ฟื้นฟูสัมพันธ์ทุกด้าน สืบต่อกันเรื่อยมา และหวังว่าจะสืบต่อความสัมพันธ์อันดีตลอดไป เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งของแม่นํ้าโขง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม