ที่ประชุมสภามีมติ 348 เสียง ไม่เห็นชอบกับการแก้ไขของ สว. กรณีใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ขอยืนตามเดิมใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ภูมิใจไทยงดออกเสียง พร้อมตั้ง กมธ.ร่วม 28 คน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ หาทางออกร่วมกัน 

เมื่อเวลา 14.25 น. วันที่ 9 ตุลาคม 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่วาระเรื่องด่วน การพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้แก้ไขจากเกณฑ์แบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) ไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 1 ชั้น (Single Majority) แทน แต่ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้มีการแก้ไขกลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นอีกครั้ง (สำหรับประชามติที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ก่อนส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรให้มีมติว่าจะยืนยันตามร่างเดิมหรือเห็นชอบกับการแก้ไขของวุฒิสภา

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมอภิปรายต่อการแก้ไขของวุฒิสภา โดยเห็นแย้งและยืนยันให้คงร่างเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไปแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อย้อนไปดูบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา จะพบการกลับไปกลับมาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา คือ ในการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 กมธ. มีมติ 20 ต่อ 3 ให้คงกติกาเสียงข้างมาก 1 ชั้นตามร่างของ สส. แต่ผ่านไปเพียง 7 วัน การประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 กมธ.ชุดเดียวกันกลับมีมติ 17 ต่อ 1 ให้กลับไปใช้กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้น หวังว่า กมธ.วุฒิสภา จะมีเหตุผลในเชิงหลักการมารองรับจริงๆ เพื่อพิสูจน์ว่าทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มที่ไม่ต้องการให้การแก้ไขและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น

...

“ผมยืนยันว่า สภาแห่งนี้ควรจะยืนยันหลักการของการหันมาใช้กติกาแบบเสียงข้างมาก 1 ชั้น ไม่ใช่เพื่อจะทำให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น แต่เพื่อให้กติกาสำหรับการทำประชามติในทุกๆ เรื่องที่มีความเป็นธรรมระหว่างฝ่ายที่อยากเห็นประชามติผ่านกับฝ่ายที่ไม่อยากเห็นประชามติผ่าน จะเป็นกติกาประชามติที่ไม่เปิดช่องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการรณรงค์ให้คนไม่ออกมาใช้สิทธิ แต่เป็นกติกาประชามติที่ทำให้ทุกฝ่ายมีแรงจูงใจในการรณรงค์เชิงความคิดและเชิญชวนคนที่คิดคล้ายๆ กันให้ออกมาลงคะแนนเสียงให้เยอะที่สุด เพื่อให้สังคมใช้คูหาประชามติเป็นช่องทางในการหาข้อสรุปร่วมกันว่าสังคมนั้นจะเดินไปในทิศทางไหน”

ภายหลังสมาชิกร่วมกันอภิปราย โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับมติของ สว. จากนั้น นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เรียกตรวจสอบองค์ประชุม แล้วจึงถามที่ประชุมว่าจะเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาหรือไม่ โดยมีผลการลงคะแนนดังนี้

  • จำนวนผู้ลงมติ 411
  • เห็นชอบ 0
  • ไม่เห็นชอบ 348 (ลงคะแนนด้วยเสียง 3)
  • งดออกเสียง 65
  • ไม่ลงคะแนนเสียง 1

สรุปว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา และให้ตั้งบุคคลเป็นกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จำนวน 28 คน แบ่งเป็น สส. 14 คน และ สว. 14 คน ในส่วนของ สส. มีรายชื่อ กมธ. ดังนี้

พรรคประชาชน

  • นายพริษฐ์ วัชรสินธุ
  • นายณัฐวุฒิ บัวประทุม
  • นายปกป้อง จันวิทย์
  • นายณัชปกร นามเมือง


พรรคเพื่อไทย

  • นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์
  • นายนพดล ปัทมะ
  • นายจาตุรนต์ ฉายแสง
  • นายกฤช เอื้อวงศ์

พรรคภูมิใจไทย

  • นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล
  • นายชัยชนก ชิดชอบ


พรรคพลังประชารัฐ

  • นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์


พรรครวมไทยสร้างชาติ

  • นายวิทยา แก้วภราดัย


พรรคประชาธิปัตย์

  • ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • นายนิกร จำนง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเสนอชื่อผู้เป็น กมธ.เสร็จสิ้น ประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดประชุมในเวลา 16.18 น. ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในจำนวนงดออกเสียง 65 เสียง เป็นเสียงของ สส.พรรคภูมิใจไทย ทั้งสิ้นจากทั้งหมดที่มี สส. 71 คน โดยมีเพียง 6 คนที่ไม่ได้กดงดออกเสียง ได้แก่ นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ไม่ลงคะแนนเสียง

ขณะที่ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง, นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สส.พระนครศรีอยุธยา, นายเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น ไม่ปรากฏว่ามีการลงมติ.