ผู้นำหญิงคนเดียวบนเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน “นายกฯ แพทองธาร” กล่าวถ้อยแถลงเสนอวิสัยทัศน์ 3 ประเด็นสำคัญ เชื่อมโยงประเทศอาเซียนที่แข็งแรงระหว่างกัน ก่อนหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ยืนยันสานต่อความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนอย่างยั่งยืน

วันที่ 9 ตุลาคม 2567 เมื่อเวลา 09.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 (แบบเต็มคณะ) เพื่อย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนต้องมี “Collective Leadership” หรือการทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ในการแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชนกว่า 700 ล้านคนในภูมิภาค

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณสำหรับการต้อนรับในครอบครัวอาเซียนอย่างอบอุ่นซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทยในการมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาประชาคมอาเซียน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากและซับซ้อน ทั้งจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายประเทศของสมาชิกอาเซียน เป็นสิ่งย้ำเตือนให้ไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ จำเป็นที่จะต้องสร้างประชาคมอาเซียนที่เชื่อมโยงและยืดหยุ่นในแต่ละปัญหาให้มากยิ่งขึ้น

...

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าความเป็นผู้นำร่วมกัน (collective leadership) ที่พร้อมจะสร้างความแตกต่างและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และความเจริญร่วมกันได้ โดยประเทศไทยได้เสนอประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ประเด็นด้านความยั่งยืน ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เห็นว่าอาเซียนต้องร่วมกันดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และความเป็นกลางทางคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด การเงินสีเขียว และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงนวัตกรรมดิจิทัลเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่นี้จะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หรือเกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค

2. ประเด็นด้านความมั่นคงของมนุษย์ ไทยได้เสนอว่าอาเซียนต้องทำงานร่วมกันในการต่อสู้กับทุกวิกฤต เพื่อให้ประชาชนมีอาหาร พลังงาน และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน รวมถึงควรส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะไปพร้อมๆ กับเกษตรยั่งยืน เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับผลผลิตและความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวของภูมิภาค และจะต้องเร่งเสริมสร้างกรอบการทำงานของอาเซียนในด้านพลังงาน เช่น การเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าของอาเซียน เพื่อการยืดหยุ่นด้านพลังงานในภูมิภาค ขณะเดียวกัน สมาชิกอาเซียนควรร่วมกันส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีพรมแดนระหว่างกัน เพิ่มศักยภาพในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการปราบปรามการค้ายาเสพติด โดยเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างกัน

3. ประเด็นเรื่องการบูรณาการระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้ง นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการสนับสนุนในความพยายามของอาเซียนในการปรับปรุงและยกระดับ FTA กับคู่เจรจา และในฐานะที่ไทยเป็นประธานคณะกรรมการเจรจา ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) จะผลักดันการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า (พ.ศ. 2568) เพื่อสร้างเครื่องยนต์กลไกเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ในอาเซียน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย หรือ MSMEs เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยสร้างการเติบโตในเศรษฐกิจของโลกที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้

ขณะเดียวกัน นางสาวแพทองธาร ยังกล่าวถึงการสร้างความเชื่อมโยงในทุกๆ ด้านที่จะเป็นกุญแจสำคัญ อาทิ ขอให้อาเซียนส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนต่อกันเป็นพิเศษ เช่น การเพิ่มเที่ยวบินและขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่า (Visa-free) ระหว่างประเทศอาเซียน การส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเป็นแกนกลางและความสามัคคี ที่จะทำให้การมีส่วนร่วมของอาเซียนกับประเทศพันธมิตรภายนอก มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียน ควรหลีกเลี่ยงการเป็นตัวแทนของอำนาจใดๆ หรือปล่อยให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นเวทีแห่งการแข่งขัน เพื่อสร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ และไทยจะทำหน้าที่ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแข็งขันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาในภูมิภาค นอกจากนี้ ประเทศไทยจะรอการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี และอาเซียน-นิวซีแลนด์ และไทยพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มของประเทศมาเลเซียในการจัดการประชุม ASEAN-GCC-China Summit ในปีหน้า โดยในช่วงท้ายการประชุมช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับ สปป.ลาว สำหรับความสำเร็จของการเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ และพร้อมสนับสนุนมาเลเซียในการเป็นประธานอาเซียนวาระถัดไป มั่นใจว่าจะพาประเทศสมาชิกอาเซียนให้พัฒนาในทุกๆ ด้านต่อไปในอนาคตอันใกล้

ต่อมาเวลา 11.20 น. ณ ศูนย์การประชุม NCC ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว นางสาวแพทองธาร หารือทวิภาคี (pull-aside) กับ นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เพื่อสานต่อความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญในทุกมิติของทั้งสองประเทศ โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 โดยประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล AI รวมถึง Digital transportation และต้องการให้สิงคโปร์ช่วยสนับสนุน

นอกจากนี้ ไทยกับสิงคโปร์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยอยากให้สิงคโปร์สนับสนุนการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของไทย เช่น ไข่ออร์แกนิก เนื้อหมู ด้านการท่องเที่ยวจำเป็นต้องสนับสนุนและเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความตกลงในการฝึกซ้อมของเหล่าทัพร่วมกัน พร้อมทั้งสานต่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และปัญหาภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียืนยันกับทางสิงคโปร์ว่า พร้อมให้การต้อนรับประธานาธิบดีสิงคโปร์ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ในปี 2568 ด้วย.