เหตุการณ์ อุทกภัย ดินโคลนถล่ม รอบนี้ เป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากภาวะโลกร้อนจนเป็นโลกเดือด ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเรือนกระจกหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเกินขีดจำกัด ไม่ว่าจะเกิดจากการเผาป่า รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่า การเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก การใช้ยานพาหนะที่มีจำนวนมากขึ้น เฉพาะรถยนต์ใหม่ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกในปี 2566 มากกว่า 2.7 ล้านคัน รวมแล้วประเทศไทยมีคนใช้รถยนต์อยู่ไม่ต่ำกว่า 42 ล้านคัน ไม่รวมรถจักรยานยนต์ ใน กทม.ที่มีรถติดมากที่สุด มีคนใช้รถอยู่ประมาณ 11 ล้านคัน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฤดูเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน ธรรมชาติเปลี่ยน ปรากฏการณ์ เอลนีโญ และลานีญา ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้น กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยตรง และมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ดินโคลนถล่ม แผ่นดินยุบตัว ในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล จากข้อมูลของ TDRI อุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ทำให้เศรษฐกิจเสียหายถึง 1.1 ล้านล้านบาท

งบประมาณแต่ละปี มีการนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม ประมาณ 1 แสนล้านบาท ในปีนี้งบประมาณถูกนำไปใช้ในโครงการกักเก็บน้ำจำนวนกว่า 1.9 หมื่นโครงการ วงเงินกว่า 1.19 แสนล้าน ภายใต้การดำเนินงาน 9 กระทรวง 30 หน่วยงาน ปี 2568 เตรียมจัดสรรงบประมาณเพิ่มเป็น 1.31 แสนล้าน ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
นอกจากนี้ยังมีแผนในระยะยาว 3 ปี 2568-2570 วงเงิน 5.48 แสนล้าน ยังมีงบกลาง งบฉุกเฉินที่นำไปใช้อีกจำนวน ไม่น้อยในวงเงิน 1 แสนล้าน นอกจากเงินที่นำไปเยียวยาช่วยเหลือ ผลกระทบจากภัยแล้งน้ำท่วมปีละประมาณ 4-5 หมื่นล้าน ยังต้องนำไปซ่อมแซมถนน สาธารณูปโภคอื่นๆ รวมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากอุทกภัยไปแล้ว น่าจะใช้งบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 7-8 หมื่นล้าน (อาจกระทบกับโครงการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง)

...

นักวิชาการหลายคนมีมุมมองตรงกัน เป็นห่วงในอนาคตทั้งนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะต้องใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้าน การนำมากระตุ้นเศรษฐกิจจากอุทกภัยอีกนับแสนล้าน จะทำให้เกิดปัญหาการเงินการคลังของประเทศ โดยเฉพาะการกู้เงินมาใช้จ่ายภาครัฐ แทนที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

ปัจจุบันหนี้สาธารณะภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 64 ของจีดีพี มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี (มีบางประเทศหนี้สาธารณะสูงถึง 100-200% ของจีดีพี) ซึ่งต้องมาดูที่ไปที่มาของหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงแค่ไหนจากการขาดดุลงบประมาณที่ไม่ปกติ เช่นในกรณีการเกิดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นอีกบานตะไท

ห่วงว่าหนี้ท่วมหัวจะเอาตัวไม่รอด.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม