เหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองครั้งสำคัญ หมุนเวียนมาครบ 48 ปี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา นั่นก็คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำสำคัญของพรรคเพื่อไทย ระบุว่าเป็นการวางแผนล่วงหน้าเพื่อก่อรัฐประหาร นำประเทศกลับสู่ระบอบเผด็จการอีก หลังยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน

น่าจะเป็นการวางแผนรัฐประหาร ของกลุ่มที่เห็นต่างจากฝ่ายนักศึกษา ประชาชน ที่กำลังชื่นชมยินดีกับประชาธิปไตยที่กลับมาเบ่งบานจากการต่อสู้นองเลือดที่เรียกกันว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะมีการเตรียม ปลุกระดมมวลชน กลุ่มที่เห็นต่างจากกลุ่ม นักศึกษาให้บุกเข้าไปทำร้ายกลุ่มนักศึกษา ที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มีนักศึกษา ประชาชนถูกฆ่าถึง 40 คน ตามด้วยการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าสลดหดหู่อีกครั้ง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีการนองเลือดหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง นองเลือดเกือบร้อยศพ

ยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีก เช่น การชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 นำไปสู่รัฐประหารโดย คสช. เปรียบเทียบกับบรรดาเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ไทยน่าจะมีเหตุรุนแรงมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า เป็นสงครามกลางเมือง มีฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียที่คล้ายกับไทย

เพลงชาติไทยตอนหนึ่ง ระบุว่า “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด” ประเทศไทยเป็นดินแดนที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาแห่งสันติ ส่วนทางการเมือง คนไทยส่วนใหญ่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อพรรคการเมืองเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับถูกต่อต้านโดยอ้างว่าแก้เพื่อตนเอง

...

คนส่วนใหญ่รู้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาจากรัฐประหาร และขัดต่อหลักการประชาธิปไตยในหลายประเด็น เช่น ให้ สว.ที่มาจากการแต่งตั้ง มีสิทธิเลือกหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ขัดหลักประชาธิปไตยชัดแจ้ง (แต่เคราะห์ดีที่ถูกเลิกไปตามวาระ) หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ให้ตัดสินด้วยเสียงข้างน้อยของ สว.

ล้วนแต่ขัดหลักประชาธิปไตยชัดแจ้ง แต่ถูกห้ามแก้ไข โดยกล่าวหาว่าแก้ไขเพื่อประโยชน์ สส.เอง ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ผู้แก้ไขอาจถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต ทั้งที่รัฐธรรมนูญ ม.255 บัญญัติไว้ชัดแจ้ง ห้ามแก้ไขเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม