ระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการ พานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานที่ พ.ศ.2562-2563 ลงนามโดย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาฯ ที่แบ่งเป็นแบบไม่พักแรม, พักแรม และไปต่างประเทศ มีคำแนะนำ อยู่ทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน อาทิ โดยความสมัครใจและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง จะต้องมีครูหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา เป็นผู้ควบคุม 1 ต่อ 30 คน ยานพาหนะต้องอยู่ในสภาพที่แข็งแรง พนักงานต้องมีความรู้ความชำนาญ มีป้ายแสดงข้อความที่ระบุโครงการ กิจกรรม และสถานศึกษาให้เด่นชัดติดข้างรถ กรณีใช้รถโดยสารไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คันขึ้นไป ให้มีรถนำขบวน เป็นต้น
เอาเฉพาะที่กล่าวมาแล้วน่าจะผิดระเบียบทุกข้อ เกิดปัญหาขึ้น ยังเอารถโดยสารที่ไม่ถูกกฎหมายไปถอดถังบรรจุแก๊สในรถออกให้เหลือตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ที่กระทรวงคมนาคม สั่งให้นำรถติดแก๊สมาตรวจสภาพ เป็นแค่ปาหี่ไปฉิบ ปัญหาของประเทศไทย คือการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดแค่ไหน หรือใช้วิธีหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย หรือใช้วิธีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินกิจการโดยผิดกฎหมายกันเป็นปกติธุระ แก้ปัญหากันแบบไฟไหม้ฟาง การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุของผู้บริสุทธิ์ในบ้านเราไม่มีการคุ้มครองใดๆ
แล้วเราจะมีระเบียบหรือกฎหมายเอาไว้ทำไม
เมื่อไม่มีความรับผิดชอบหรือการที่จะต้องรับโทษโดยเคร่งครัด ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า โครงสร้างหลวม ขึ้นใน สังคมไทย ขาดระเบียบวินัย เอาแค่พื้นฐานในชีวิตประจำวัน การเข้าคิว จะเห็นได้น้อยมากในสังคมไทยปัจจุบัน เรื่องที่มองว่าเล็กน้อย กลายเป็นนิสัยถาวรที่ชอบฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบข้อบังคับ ทำให้ประเทศไทยยังถูกมองว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและเป็นอุปสรรคของขีดความสามารถในการแข่งขัน
...
เพราะคิดแก้ปัญหากันแบบง่ายๆว่าพรุ่งนี้คนไทยก็ลืม
กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2567 มีทั้งหมด 48 ข้อ ประกาศในสมัยรัฐบาล นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เพื่อรักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยให้ยกเลิกกฎ ก.ตร. พ.ศ.2561 และ 2562 การแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี ตำแหน่ง ผบ.ตร. ให้ ก.ตร.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ก.ค. ตำแหน่งรอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจ ให้ ก.ตร.พิจารณาให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 ส.ค.ของทุกปี ตำแหน่งรองผู้บังคับการลงมาให้ออกคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ย.ของทุกปี
ให้จัดระดับอาวุโสและจัดบัญชีรายชื่อผู้อยู่ในเกณฑ์ที่สมควรได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาตินานกว่า เป็นผู้ที่มีลำดับอาวุโสสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆอีกมากมาย สรุปว่าให้ยึดหลักอาวุโสเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักอีกว่า ถ้าตั้งไปแล้วติดปัญหาคดีความข้อร้องเรียนอยู่จะทำอย่างไร ปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ตั้งก็ไม่ได้ ไม่ตั้งก็ไม่ได้ เห็นทีต้องตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม