เร่งรีบจัดทำรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด

ตอกย้ำอีกครั้งโดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนมั่นใจกติกาใหม่ของประเทศเกิดขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลผสม ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไล่มาจนถึงรัฐบาลนี้ นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

รัฐบาลประกาศแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 12 ก.ย. 67 ชัดเจน ฟันธงทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยให้ตัวแทนประชาชน คือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ยกร่าง ถามว่าได้รัฐธรรมนูญ (รธน.) เมื่อไหร่ รัฐบาลก็บอกว่าให้เสร็จโดยเร็ว

“เดิมเป้าหมาย ให้ทันสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2570 และมีรัฐบาลใหม่ตาม รธน.ใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ตามไทม์ไลน์หลังแก้กฎหมายประชามติ ขั้นตอนก็เดินต่อโดยทำประชามติ 3 ครั้ง เริ่มจากสอบถามประชาชนว่าสมควรมี รธน.ฉบับใหม่หรือไม่

ถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็นำไปสู่แก้ รธน. มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มีที่มาอย่างนี้ ก็เอาประเด็นดังกล่าวไปทำประชามติครั้งที่ 2 ถ้าเห็นชอบจะมาเป็นของการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.

ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่สะเด็ดน้ำ ก็ทำประชามติครั้งที่ 3 ว่าเห็นชอบหรือไม่ ถ้าเห็นชอบก็นำไปสู่การประกาศใช้ รธน.ฉบับประชาชน”

แต่ขณะนี้พอเผชิญปัญหาแก้ไขกฎหมายประชามติ เดิม “สภาผู้แทนราษฎร” แก้เป็นเสียงข้างมากสองชั้น เป็นเสียงข้างมากธรรมดา ท้ายสุด “วุฒิสภา” ขอแก้เป็นเสียงข้างมากสองชั้น

สส.–สว.มีความเห็นไม่เหมือนกัน

เกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 สภา

อุปสรรคที่เกิดขึ้นต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (กมธ.) ของ 2 สภาพิจารณา ซึ่งมี 3 ทางเลือก หนึ่งตาม สส.-สองตาม สว.-สามเอาตามที่ กมธ.มีความเห็น หรืออาจมีประตูทางออกอื่นก็ว่ากันไป

...

แต่ปัญหาใหญ่ถ้า 2 สภายังเห็นไม่ตรงกันอีก มันต้องถ่วงเวลาไปอีก 180 วัน สส.ถึงหยิบเอาร่างกฎหมายประชามติกลับมาพิจารณาใหม่ และสามารถยืนยันในร่างของสภาผู้แทนราษฎรได้

รธน.ฉบับประชาชนอาจไม่ทันเลือกตั้ง

“บรรดาพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านต้องแก้ปัญหาร่วมกัน โดยยืนยันนโยบายร่วมกันจัดทำ รธน.ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หาทางออกให้เป็นข้อยุติ ไม่ให้ทอดเวลาถึง 180 วัน เช่น บางคนเสนอพบกันครึ่งทาง ไม่เอาเสียงข้างมากสองชั้นเต็มรูปแบบ อาจลดขนาดลง

ถ้าตกลงกันได้โดยเร็ว ทำประชามติก็เกิดขึ้นโดยเร็ว นับหนึ่งกระบวนการจัดทำ รธน.สามารถทำให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลนี้ได้”

รธน.ฉบับประชาชนเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ ความหวังอยู่ที่ผลหารือระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล นายชูศักดิ์ บอกว่า ได้เสนอไป ควรเชิญพรรคการเมืองหารือร่วมกัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาในขณะนี้ และร่วมมือทำ รธน.ให้เสร็จได้อย่างไร บนเป้าหมายทำนโยบายนี้ของรัฐบาลให้เสร็จโดยเร็ว

เริ่มต้นจากร่างกฎหมายประชามติให้เสร็จหรือมีวิธีอื่นที่ทำ รธน.ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จได้ ซึ่งเบื้องต้นผลรับฟังจากหลายฝ่าย อาจมีประตูทางออกอื่น เช่น...

...ย่นย่อทำประชามติเพียง 2 ครั้ง

ครั้งแรกทำตอนแก้ รธน. มาตรา 256 (หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ รธน.) ครั้งที่สองทำหลัง ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ขึ้น ทำเช่นนี้ก็เป็นทางออก ทำให้ย่นระยะเวลาได้เกือบ 1 ปี อันนี้เป็นเพียงข้อเสนอ แต่ต้องศึกษาและหารือกันให้ดี ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้อง

ข้อเสนอนี้สุ่มเสี่ยงขัดต่อคำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ 4/2564 นายชูศักดิ์ บอกว่า ขณะนี้ปัญหาใหญ่ คือ ถ้าจะแก้มาตรา 256 มีบทเรียนที่ผ่านมา สภาไม่บรรจุระเบียบวาระ เพราะนำไปสู่การทำ รธน.ฉบับใหม่ ขัดต่อคำวินิจฉัยศาล รธน.

ฉะนั้นเอาคำวินิจฉัยของศาล รธน.มาเขียนแก้ไขใน มาตรา 256 ว่าให้สามารถทำแบบนี้ได้ เมื่อทำแบบนี้ได้ก็ไม่ต้องมีความจำเป็นต้องไปทำประชามติ และสภาก็ต้องบรรจุ มันก็นำไปสู่การทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ขอย้ำตรงนี้เป็นเพียงข้อเสนอ

กลเกมแก้ไข รธน.ขึ้นอยู่กับวุฒิสภา เมื่อวุฒิสภาแก้ไขประเด็นสำคัญร่างกฎหมายประชามติของสภาผู้แทนราษฎร ส่งสัญญาณต่อการแก้ รธน.อย่างไร นายชูศักดิ์ บอกว่า ถือเป็นความเห็นที่เป็นอิสระ ไปห้ามหรือไปวิจารณ์ไม่ได้

ท้ายสุดนำไปสู่การพูดคุยทำความเข้าใจ หาทางออกนำไปสู่การทำ รธน.ฉบับใหม่ได้ เว้นแต่ไม่เห็นสมควรแก้ รธน.ฉบับนี้หรือไม่ควรจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ ซึ่งมันคนละความเห็นแล้ว แต่ไม่เชื่อว่ามีความเห็นในทำนองดังกล่าว

“ทีมการเมือง” ถามว่าบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตมีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคส่งสัญญาณที่เป็นคำสั่งลับคว่ำให้ร่างกฎหมายประชามติของสภาผู้แทนราษฎร เพราะพรรคเพื่อไทยเดินเครื่องแก้ไข รธน.เร็วเกินไป โดยหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อน นายชูศักดิ์ บอกว่า ไม่จริงๆ มันไม่เร็วหรอก

ขอย้ำนโยบายแก้ รธน.มีมาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และผ่าน ครม.แล้ว หลังคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้ ที่มีนายภูมิธรรม

เวชยชัย รองนายกฯ ในยุคนั้นเป็นประธาน รัฐบาลชุดนี้มาต่อยอด ไม่ได้ทำโดยพลการ ทุกเรื่องเอาเข้า ครม. ทั้งแก้กฎหมายประชามติ เดินแบบนี้นะ

เท่ากับรัฐบาลเป็นเจ้าภาพเสนอกฎหมาย

“ที่ถามเรื่อง สว. เรื่องอะไรต่างๆ บรรยากาศแบบนี้ควรพูดกันในเชิงสร้างสรรค์ ร่วมมือทำ รธน.ใหม่ให้ผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้นอย่างไร

ผมเข้าใจโดยบริสุทธิ์ อย่าไปพูดว่าใครสั่ง ใครไม่สั่ง เก็บไว้ อย่าพูด พูดไปก็ทำให้ท้ายสุดมันไม่เป็นผลดี เป็นอุปสรรคต่อการทำ รธน.ฉบับใหม่”

พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไข รธน.รายมาตรา ชักเข้าชักออกจนไม่ได้บรรจุพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถูกมองว่ากลัวถูกร้องเอาผิดปมจริยธรรม นายชูศักดิ์ บอกว่า ทั้งหมดเกิดจากปัญหาการบังคับใช้ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่มีมาตรฐานอะไรคือฝ่าฝืนจริยธรรม

ดุลพินิจวินิจฉัยกว้างขวางเกินไป ยากที่มาตรวัดชัดเจน เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ในขณะนั้นถูกวินิจฉัย มีการเอารัฐบาลออกโดยยากที่จะคาดเดา เป็นอันตรายต่อการใช้อำนาจบริหาร

เลยเสนอแก้ รธน.รายมาตรา ท้ายสุดกระแสสังคมบอกว่าแก้เพื่อตัวเอง และเสียงสะท้อนของพรรคการเมืองทั้งหลายก็เกิดไม่มั่นใจว่าจะเดินไปอย่างนี้ได้หรือไม่ จึงเอาออกมาก่อน ไม่ได้ถอน เอามารอดูท่าที รอฟังความเห็นให้เข้าใจตรงกันก่อน

แก้ รธน.รายมาตรา และยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับยังเดินตีคู่กันไป นายชูศักดิ์ บอกว่า แก้ รธน.รายมาตราหยุดไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ส่วนยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ต้องทำตามที่ระบุไว้ข้างต้น ยังเดินอยู่เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล

ในความเห็นส่วนตัวเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาล ต้องเดินต่อ หากไม่ทำเท่ากับรัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา แต่มีอุปสรรคเกิดขึ้น ขอย้ำว่าต้องแก้ไขให้เดินต่อไป

ตอนนี้ต้องตั้งหลัก ทำความเข้าใจระหว่าง สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้ายสุดต้องอาศัยเสียง สว. 1 ใน 3 จากจำนวนทั้งหมด 200 คน

ฉะนั้นดีที่สุดต้องเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน

ไม่ใช่นักการเมือง พรรคการเมืองทำกันเอง

แต่ยกร่างโดย ส.ส.ร.ตัวแทนของประชาชน

ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้สำเร็จ.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม