แกนนำพรรคประชาชน-พรรคเพื่อไทย-คณะก้าวหน้าร่วมรำลึก 48 ปี 6 ตุลาฯ 19 ด้าน “ชัยธวัช” ขอรัฐบาลเร่งพิจารณารายงาน กมธ.นิรโทษกรรม ย้ำมีหลายทางเลือกให้พิจารณา โดยเฉพาะคดี 112 ด้วย บอกต้องให้โอกาส “แพทองธาร” เข้ามาเป็นนายกฯ มีปัญหาถาโถม ส่วนพรรคประชาชน กระแสตกมาจากหลายปัจจัย ต้องให้เวลา “ณัฐพงษ์” ทำความรู้จัก
วันที่ 6 ตุลาคม 2567 ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคประชาชน นำโดย ศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย สส.พรรค รวมถึง ชัยธวัช ตุลาธน ตัวแทนจากคณะก้าวหน้า ร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมวางพวงมาลาไว้อาลัย ก่อนให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
นายชัยธวัชกล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังคงมีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สังคมไทยควรต้องจดจำและระลึกถึงในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรมในสังคมและความรับผิดชอบของรัฐต่อการกระทำความรุนแรงต่อประชาชนที่วันนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น และความรุนแรงที่ไม่ควรจะต้องเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ทั้งนี้ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คือ การนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี รวมถึงคดีตามมาตรา 112 ด้วย แต่สองปีต่อมารัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่า การดำเนินคดีไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและกลับขยายความขัดแย้งออกไปอีก จึงมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อปี 2521 แสดงให้เห็นว่า คดีร้ายแรงในสังคมไทยเคยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว ดังนั้นสำหรับนักการเมืองหรือคนที่เห็นว่าไม่สมควรนิรโทษกรรมคดี 112 ตนอยากย้ำว่า เคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้ว และไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความจงรักภักดีหรือไม่
นายชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่ตนเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ความคืบหน้าล่าสุดในสภาฯ ขณะนี้ก็ยังรออยู่ว่าจะมีการพิจารณาผลการศึกษาของกรรมาธิการฯ ได้เร็วที่สุดเมื่อใด ซึ่งในความเป็นจริงถึงกำหนดการที่จะต้องมีการพิจารณาแล้ว แต่แกนนำและวิปรัฐบาลกลับตัดสินใจเลื่อนวาระออกไป อาจด้วยความกังวลที่ไม่อยากให้มีประเด็นการเมืองที่อ่อนไหวมากระทบเสถียรภาพของรัฐบาล
...
“รัฐบาลไม่ควรกังวลจนเกินไป เพราะทุกอย่างเป็นวาระปกติในการทำงานของสภาฯ การนิรโทษกรรมคดีการเมืองเป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมากก็รอคอยอยู่” ชัยธวัชกล่าว
นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสำคัญต่อกรณีคดี 112 ซึ่งในรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ก็มีการเสนอไว้หลายทางเลือกและรอบด้าน รวมทั้งมีการเสนอพื้นที่ตรงกลางให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 อย่างมีเงื่อนไข ดังนั้นจึงจะเป็นประโยชน์มากกว่าถ้าคณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอรายงานต่อสภาฯ โดยเร็วที่สุด ให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ฟังความเห็นจากคณะกรรมาธิการฯ เพราะขณะนี้สังคมไทยค่อนข้างตกผลึกและเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าควรมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เพียงแต่ยังมีความเห็นต่างต่อคดีการเมืองในช่วงหลัง
นายชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้จึงไม่อยากให้มีการเลื่อนไปเรื่อย ๆ และอยากให้รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการเข้าสู่การพิจารณาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้มีกฎหมายที่รออยู่แล้ว 4 ฉบับ ทั้งของอดีตพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรครวมไทยสร้างชาติ และร่างที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อ ดังนั้นพรรคการเมืองต่าง ๆ ควรจะต้องได้รีบพิจารณารายงาน โดยเฉพาะแกนนำพรรคต่าง ๆ ควรจะต้องรีบตกผลึกเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งการเลื่อนการเสนอรายงานออกไปก็ยิ่งจะทำให้กระบวนการตกผลึกช้าลง
นอกจากนี้สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้สภาฯ พิจารณายังไม่ใช่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แต่เป็นผลการศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อหาแนวทางการนิรโทษกรรม โดยรายงานได้มีการเสนอทางเลือกเชิงนโยบายไว้ถึง 2-3 แนวทาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำที่จะให้แกนนำพรรคต่าง ๆ และสังคมได้มีโอกาสฟัง ทั้งนี้ข้อเสนอในการนิรโทษกรรมคดี 112 อย่างมีเงื่อนไขในรายงานดังกล่าว ที่เป็นหนึ่งในทางเลือกข้อเสนอในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่ได้รับความสนับสนุนเห็นด้วยจากกรรมาธิการหลายพรรค ซึ่งพรรคการเมืองต่าง ๆ จะเอาด้วยหรือไม่เอาด้วยนั้น หากเกิดจากการพิจารณารายงานและรับฟังความเห็นจากสมาชิกและสังคมที่ให้ความเห็นหลังจากนั้นก็จะง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงการประเมินผลงานรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งชัยธวัช กล่าวว่าก่อนอื่นต้องขอแสดงความเห็นใจก่อน เพราะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่กำลังต้องเผชิญกับปัญหาหลายปัญหาที่ประชาชนคาดหวังและรอคอยการแก้ปัญหาหลังจากที่รัฐบาลเพื่อไทย 1 ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ พอรัฐบาลใหม่เข้ามาก็มีปัญหาถาโถมเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นในยามที่สังคมเรียกร้องต้องการภาวะความเป็นผู้นำ ทั้งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและในการบริหารนโยบายก็คงต้องให้เวลารัฐบาลในการพิสูจน์การทำงานสักพัก
ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกรณีการประกาศของหลายฝ่ายที่จะจัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขึ้น ชัยธวัช กล่าวว่า การชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ไม่ควรเป็นการละเมิดหลักการสำคัญพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ส่วนการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ จะกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความชอบธรรมของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลมีความชอบธรรมสูงก็ย่อมได้รับการโอบอุ้มจากสังคม แต่ถ้าขาดความชอบธรรมก็จะทำให้การต่อต้านรัฐบาลได้รับการสนับสนุนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็ต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป
ส่วนที่กระแสรัฐบาลกำลังขึ้น สวนทางกับพรรคประชาชนกระแสตกลง ในฐานะที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองพรรคตอนนี้อย่างไรบ้าง นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องให้เวลา หลังจากพรรคก้าวไกลถูกยุบ เราสูญเสียบุคลากร ดังนั้นพรรคประชาชนต้องใช้เวลาในการจัดระบบบุคลากร ระบบการทำงานกันอีกสักพัก ซึ่งยังมีเวลาอยู่ ตนเองเข้าใจว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย ข้อบกพร่องจากการทำงานที่ผ่านมา ผู้บริหารพรรค รวมถึง สส. และสมาชิกพรรคมีการพูดคุยตลอดเวลา และตระหนักดีว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร
นายชัยธวัช กล่าวว่า คงมีหลายปัจจัยที่ทำให้กระแสตกลง เช่น ความนิยมของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคคนใหม่ คงต้องให้เวลาเขา เป็นเรื่องปกติที่แกนนำพรรคคนใหม่ขึ้นมาก็ต้องใช้เวลาในการทำให้สังคมรู้จัก และได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ รวมถึงวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ประชาชนคาดหวังได้หรือไม่ นายณัฐพงษ์ ต้องใช้เวลาพิสูจน์ พรรคประชาชนยังมีเวลาอยู่
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางพรรคเพื่อไทย นำโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ นายสุธรรม แสงประทุม สส.บัญชีรายชื่อ นายแพทย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ นางสาวชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ดและรองโฆษกพรรค นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรค ยังได้ร่วมวางพวงหรีดพรรคเพื่อไทยในงาน “ครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาคม 2519” ประจำปี 2567 เพื่อร่วมรำลึกและไว้อาลัยแก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ด้วย โดยโอกาสนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเป็นผู้วางหรีดในนามนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะเดียวกันทางพรรคประชาชาติ และกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาใหม่ รวมถึงเครือข่ายองค์กรต่างๆ ได้ร่วมส่งพวงหรีด รำลึกถึงงานดังกล่าวด้วย
ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี