ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ้าของฉายา “บิ๊กป้อม” เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายด้าน ผ่านการเมืองมาอย่างโชกโชน ทั้งระบอบรัฐประหารและระบอบรัฐสภา ทั้งระบบการแต่งตั้งและเลือกตั้ง เป็นผู้สร้างประวัติ ศาสตร์หน้าใหม่ ในฐานะ สส.ผู้ลาการประชุมมากที่สุด แทบจะไม่เข้าประชุม
ข้อมูลจากนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ระหว่างสมัยประชุมรัฐสภาวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ถึง 30 ก.ย.2567 มีวันประชุมสภา 95 ครั้ง บิ๊กป้อมเข้าประชุม 11 ครั้ง ไม่เข้าประชุม 84 ครั้งโดยอ้างว่าได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร มิฉะนั้น จะต้องพ้นสมาชิกภาพ สส.ตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (12) บัญญัติว่าสมาชิกภาพของ สส.สิ้นสุดลงเมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุม ในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน การไม่เข้าประชุมถึง 84 ครั้ง จากทั้งหมด 95 ครั้ง ต้องเกิน 1 ใน 4 แน่นอน แต่อ้างว่าลาการประชุม ทั้งยังอ้างว่าเพื่อให้เป็นตัวอย่างของ สส.ที่มีภารกิจมาก
พล.อ.ประวิตร ยังสร้างประวัติศาสตร์ อีกอย่างหนึ่งด้วยการแจ้งต่อรัฐสภาว่า มีความประสงค์ไม่ขอรับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 จนถึงครบวาระ และขอคืนเงินทั้งหมดที่รับมา นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 จะถือว่าเป็นการลบล้างบาปที่ไม่ได้เข้าประชุมรัฐสภา 84 ครั้งหรือไม่
ไม่น่าจะลบล้างความผิดได้ และไม่น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีของ สส.ผู้มีภาระมากจึงต้องลาประชุมบ่อย เพราะการประชุมเป็น “หน้าที่” ที่สำคัญสุดของ สส. สส.จะต้องเสนอร่างกฎหมาย เพื่อการบริหารประเทศ เพื่อประโยชน์สุขประชาชน สส.ต้องเป็นกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล ต้องอนุมัติงบประมาณรายจ่ายของประเทศ
...
สส.ยังมีหน้าที่นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้รัฐบาลแก้ไข หน้าที่ทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น จะไม่สามารถทำได้ ถ้า สส.ไม่เข้าประชุม และถ้า สส.ส่วนใหญ่ยึดถือ พล.อ.ประวิตรเป็นตัวอย่าง เราบริหารประเทศกันอย่างไร ถ้าเสียงข้างมากของ สส.ไม่ยอมเข้าประชุม จะประชุมไม่ได้เพราะขาดองค์ประชุม
เมื่อสภาประชุมไม่ได้ เราจะปกครอง หรือบริหารประเทศกันอย่างไร เพราะถึงแม้รัฐบาลจะสามารถเสนอร่างกฎหมายได้ หรือเสนอของบประมาณรายจ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินได้ แต่ไม่มี สส.ที่จะพิจารณาหรืออนุมัติ ต้องถือว่าเป็นแนวความคิดที่แปลกพิสดาร จากนักการเมืองใหญ่ ที่ยังมีความทะยานอยากเป็นนายกรัฐมนตรี.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม