“อดีตนายกฯ เศรษฐา” ป้อง “นายกฯ อิ๊งค์” ชี้ สคริปต์สำคัญในเวทีระดับโลก เพื่อให้ผิดพลาดน้อยที่สุด ด้าน “นพดล” บอกเป็นเรื่องปกติ ทำกันทั้งโลกมานานแล้ว ขอให้วิจารณ์ที่เนื้อหาสาระดีกว่า ขณะที่ “พิชัย” โต้กลับเป็นการวิจารณ์ที่ล้าสมัย ไม่รู้ข้อเท็จจริง ขอเลิกอคติหันมาให้กำลังใจทีมประเทศไทยด้วยกัน
วันที่ 6 ตุลาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X ถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกโจมตีอ่านสคริปต์บนเวที ในการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD) ครั้งที่ 3 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ว่า “สคริปต์จำเป็นไหมในฐานะผู้นำประเทศ
ความสำคัญในคำพูดของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควรมีความผิดพลาดน้อยที่สุด ตั้งแต่ข้อมูล ชื่อตำแหน่ง ตัวย่อหน่วยงานราชการ ผมเองไม่ได้เทรนมาเป็นนักพูด อยู่ภาคธุรกิจมาตลอด ถ้าต้องพูดโดยไม่มีสคริปต์ ก็คงใช้ศัพท์ที่เคยชินซึ่งอาจจะไม่ถูกต้อง
การเตรียมสคริปต์ทำให้มีเวลาในการทบทวนเนื้อหา ทั้งที่กลั่นกรองจากความคิดตัวเอง ทั้งเนื้อหาที่มาจากทีมงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ รวมถึงส่วนที่ให้ข้าราชการผู้จะนำไปปฏิบัติช่วยดูให้รัดกุม เพราะคนที่เป็นนายกฯ ไม่ใช่แค่พูดแล้วจบ แต่ต้องเอาไปปฏิบัติได้จริงด้วย ดังนั้นสคริปต์ที่รัดกุมสำคัญมาก
สำหรับผม substance over style
เรื่องอ่านสคริปต์หรือไม่อ่านเป็นแค่ style ครับ”
...
“พิชัย” ยันอยู่ในเหตุการณ์ ชี้ นายกฯ ทำผลงานโดดเด่น โต้กลับเป็นการวิจารณ์ที่ล้าสมัย ไม่รู้ข้อเท็จจริง
ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว. พาณิชย์ กล่าวว่า ทันทีที่กลับถึงไทย ตนได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการประชุม ACD summit ในครั้งนี้ โดยย้ำว่า เป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงบทบาทผู้นำของประเทศไทยอย่างยอดเยี่ยม และเป็นที่ชื่นชมของผู้นำต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งมีผู้นำหลายประเทศมาขอร่วมถ่ายภาพด้วย ล่าสุดติดอันดับ 100 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคตของนิตยสาร TIME ในเวทีต่างๆ ท่านนายกฯ ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อผู้นำกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และการเชิญชวนชาติต่างๆ เข้ามาตั้ง Data Center หรือสถานที่จัดเก็บข้อมูลในประเทศไทย ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจอย่างมาก เช่น UAE, Qatar, Kuwait, Oman เป็นต้น
รมว. พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ตนจึงแปลกใจที่มีการหยิบยกภาพๆ เดียวที่นายกฯ ถือไอแพดขึ้นมาตัดต่อ บิดเบือน ในเรื่องการสื่อสารในเวทีระดับโลก ตนรู้สึกเป็นการวิจารณ์ที่ล้าสมัย ไม่รู้ข้อเท็จจริง และธรรมเนียมปฏิบัติในเวทีโลก ไม่ยุติธรรมต่อคนทำงาน จึงต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการบิดเบือนใส่ร้าย ในฐานะผู้ที่นั่งอยู่ร่วมในวงประชุมต่างๆ กับท่านนายก ทั้งในเวทีใหญ่ และเวทีทวิภาคี
ต่อข้อวิจารณ์ว่านายกฯ อ่านจากไอแพด นักวิจารณ์บางรายไปบิดเบือนเป็นเรื่อง การทูต iPad ขอเรียนว่า ในเวทีสากลแบบนี้ ทุกอย่างที่อยู่ในห้องประชุม ทั้งการสนทนา การนำเสนอวิสัยทัศน์ การให้ข้อแถลงต่างๆ จะถูกบันทึกไว้ทั้งหมดโดยละเอียด ตนนั่งในห้องประชุมหลังท่านนายกฯ จึงได้เห็นว่าผู้นำทุกชาติ เขาอ่านกันทั้งหมด เพราะเขาระวังความผิดพลาด ถ้าพูดผิด ก็จะทำให้บันทึกการพูดผิดไปด้วย การอ่านทั้งจากเอกสาร หรือไอแพดก็ดีจึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่รัดกุมที่ทุกประเทศเขาทำกันหมด
ส่วนในการเจรจา Bilateral หรือทวิภาคีกับชาติต่างๆ ตนนั่งอยู่ในห้องด้วย ท่านนายกพูดเองทั้งหมด นำการประชุมทวิภาคีได้สมศักดิ์ศรี ต้องเข้าใจก่อนด้วยว่า ในการร่วมเวทีระดับสากล จะมีวงหารือทวิภาคีหลายวง และประเด็นในการสนทนา หรือ Suggest Talking Points ที่แต่ละชาติจะหยิบยกขึ้นมาหารือกัน ก็ไม่เหมือนกันทั้งสิ้น การมีกระดาษโน้ต หรือไอแพดไว้ในมือ เพื่อเหลือบมองหัวข้อบ้างตามสมควร จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสามารถทำได้ เพื่อให้ประเด็นที่เราหยิบยกขึ้นมาดำเนินไปด้วยความถูกต้องกับที่เราเตรียมการมา ผู้นำชาติต่างๆ ก็ทำแบบนั้นทั้งสิ้น ท่านนายกฯ พูดได้ไหลลื่น มองไอแพดเป็นครั้งคราวเพื่อดูเพียงหัวข้อ ที่ต้องชมมากคือการเจรจา Bilateral ครั้งแรกกับประเทศอิหร่าน ซึ่งสุดหิน เพราะเพิ่งมีสถานการณ์สดๆ ร้อนๆ แต่ท่านนายกสามารถทำได้อย่างดีเยี่ยม พูดให้เขาสบายใจ ด้วยภาษาดอกไม้ ไม่เข้าข้างใคร ให้ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง และในช่วงการสัมภาษณ์สรุปประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วม ACD summit กับสื่อมวลชนไทยก็ทำด้วยดี จนพวกเราทั้งสามคนที่ยืนอยู่ด้วยหันมาชื่นชมเป็นเสียงเดียวกัน
“ทั้งตัวผม และผู้ที่ร่วมในการประชุม ทั้ง นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รมว. ต่างประเทศ และนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริเดช เลขาธิการนายกฯ เราได้อยู่ด้วยในทุกฟอรัมที่นายกฯ เข้าร่วม เรายังยืนคุยกันชื่นชมนายกฯ ที่สามารถทำได้ดีเยี่ยม เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ อย่างวงทวิภาคี ตนเองยังต้องใช้เวลาฝึกเป็นปีกว่าจะสามารถดำเนินการได้ แต่ท่านนายกฯ สามารถทำได้ดีในครั้งแรก จึงอยากออกมาข้อมูลอีกด้าน ในฐานะที่อยู่เหตุการณ์จริง ขอให้เลิกอคติ จับผิดเรื่องเล็กน้อย วันนี้ ขอชวนคนไทยให้กำลังทีมไทยแลนด์ที่ช่วยกันทำงานอย่างหนัก เพื่อเชิญชวนชาติต่างๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะดีกว่า” นายพิชัยกล่าว
“นพดล” แจงเป็นเรื่องปกติ ทำกันทั้งโลกมานานแล้ว
ด้านนายนพดล ปัทมะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าตามที่มีการวิจารณ์นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ว่าไปประชุมเอซีดีทำไมนั่งอ่านสคริปต์เรื่องนี้ ต้องเข้าใจแนวปฏิบัติการประชุมระหว่างประเทศให้ถูกต้องว่าการที่ผู้นำไปกล่าวถ้อยแถลงในเวทีประชุมระหว่างประเทศนั้นเป็นเรื่องปกติทำกันทั้งโลกเช่นนั้นมานานแล้ว เนื่องจากจะต้องไปกล่าวถ้อยแถลงแทนประเทศซึ่งจะมีกระทรวงการต่างประเทศและทำเนียบช่วยเตรียม ที่เรียกว่าเป็นคำแถลงที่เตรียมไว้แล้ว (prepared speech) มันไม่ได้แสดงว่านายกฯ อ่อนด้อยประสบการณ์ ดังนั้นต้องเข้าใจและให้ความเป็นธรรมกับผู้นำของไทย ถ้าหากจะวิพากษ์ ควรจะไปดูที่เนื้อหาสาระของถ้อยแถลงว่ามีประโยชน์ต่อประเทศไทยหรือไม่ มากกว่าจะวิจารณ์ว่าไปอ่านจากสคริปต์ ซึ่งเท่าที่ตนติดตามสาระของถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีก็ถือว่าเป็นประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นพูดถึงเรื่องของการร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียการสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงินของเอเชีย การสร้างสันติภาพและความรุ่งเรือง รวมทั้งการดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย เป็นต้น
นายนพดลกล่าวต่อไปว่าสัปดาห์หน้านายกรัฐมนตรีจะไปประชุมอาเซียนซัมมิทซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำที่สปป.ลาว ซึ่งปกติจะไปกล่าวถ้อยแถลงที่เป็นสคริปต์ที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว และตนเชื่อมั่นว่าท่านนายกฯ จะเตรียมการอย่างดี เพื่อไปแสดงบทบาทของไทยในเวทีระดับภูมิภาคครั้งสำคัญนี้ อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากประเด็นที่ให้ท่านไปผลักดันคือเรื่องของการสร้างสันติภาพ และความมั่นคงในประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากการสู้รบยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่สร้างสันติภาพในเมียนมาร์ไม่ได้ ปัญหาต่างๆ จะยังมีให้ไทยแบกรับต่อไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้อพยพ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ดังนั้นไทยควรแสดงบทบาทนำร่วมกับอาเซียนและมิตรประเทศในภูมิภาคเพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพให้มีการเจรจาของทุกฝ่ายเพื่อยุติการสู้รบ ซึ่งไทยในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาร์และเป็นผู้นำในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม น่าจะอยู่ในสถานะที่ดีที่จะไปผลักดัน
“แม้นายกรัฐมนตรีจะมีอายุน้อยและใหม่ในเวทีระหว่างประเทศ แต่ตนเชื่อมั่นว่าท่านจะเรียนรู้ได้เร็วและสามารถดำเนินงานด้านต่างประเทศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งผลักดันบทบาทไทยในเวทีโลกต่อไปการวิจารณ์ควรจะวิจารณ์ที่ผลงานและเนื้อหาสาระมากกว่า” นายนพดลกล่าว