“นายกฯ อิ๊งค์” ตรวจราชการกรมชลประทาน เทียบปริมาณฝนกับปี 54 มั่นใจปีนี้ไม่น่าห่วง พร้อมออกข้อสั่งการย้ำเตือนประชาชนล่วงหน้าก่อนระบายน้ำ ด้านกรมชลฯ การันตี กทม. น้ำไม่ท่วม

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 ตุลาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการการบริหารจัดการน้ำ ที่กรมชลประทานปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ และนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี รอให้การต้อนรับ โดยรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำภาคกลาง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมระบุช่วงหนึ่งว่า การันตีปีนี้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ

ทางด้าน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นห่วงกันเยอะว่าปีนี้จะท่วมหรือไม่ท่วม เวลาปล่อยน้ำมีการแจ้งชาวบ้านอยู่แล้วใช่หรือไม่ ต้องฝากกระทรวงมหาดไทยในเรื่องอำนวยความสะดวกสบายพี่น้องประชาชน เรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้าด้วย และที่ห่วงพื้นที่กรุงเทพฯ กันนั้น หากเทียบกับปี 2554 อยากให้เกิดความสบายใจ เพราะปี 2554 มีพายุเข้ามา 5 ลูก แต่ปีนี้มีมาลูกเดียว ปี 2554 เหลือพื้นที่เก็บน้ำ 1,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ตอนนี้เหลือ 6,000 กว่าล้าน ลบ.ม. ห่างจากปี 2554 เยอะมาก

...

สำหรับปริมาณน้ำฝนปีนี้เยอะกว่าปกติ 2% แต่ในปี 2554 เยอะกว่าปกติประมาณ 25% ดังนั้น คนกรุงเทพฯ ที่กำลังกลุ้มใจน้ำจะท่วมก็ไม่ต้องน่าเป็นห่วง พร้อมฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ช่วยกันดูแลด้วย หากมีโครงการอะไรที่จะทำให้แก้ไขปัญหาระยะยาวได้ก็ขอให้พิจารณาและเสนอมา รวมถึงฝากให้ดูในเรื่องพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรด้วยว่าได้รับผลกระทบแค่ไหน จะได้พิจารณาเรื่องการเยียวยาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าหลังตรวจราชการเสร็จสิ้น ทีมงานนายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ถึงการระบายน้ำ กรมชลประทาน 4 ข้อ ผ่านทางเฟซบุ๊กดังนี้

1. มอบอธิบดีกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือกระทบน้อยที่สุด

1.1 ให้กรมชลประทานบริหารจัดการเขื่อนเจ้าพระยาและผันน้ำเข้าฝั่งซ้าย (คลองชัยนาท-ป่าสัก) และฝั่งขวา (ประตูระบายน้ำพลเทพ และประตูระบายน้ำบรมธาตุ) ของเขื่อนเจ้าพระยา ให้มีความเหมาะสม และพิจารณาอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำทะเลมาประกอบการระบายน้ำให้สอดคล้องด้วย
1.2 ประชาสัมพันธ์กับประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้บริเวณจังหวัดอ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับทราบข้อมูลการปล่อยน้ำล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อรีบยกของต่างๆ ได้ทันต่อไป

2. มอบกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดูแลให้การช่วยเหลือในลำดับแรกด้วย

3. มอบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และอธิบดีกรมชลประทาน

3.1 เฝ้าระวังจุดฟันหลอ และเตรียมการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
3.2 ทำการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับน้ำหากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3.3 ตรวจสอบความพร้อมเครื่องสูบน้ำและประตูระบายน้ำให้มีความพร้อมใช้งาน
3.4 เร่งกำจัดขยะและผักตบชวาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำและการระบายน้ำออกจากพื้นที่

4. ตามที่ได้มีการมอบหมายการบริหารจัดการที่เขื่อนเจ้าพระยา และการผันน้ำออกด้านซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้กระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อยที่สุด รวมถึงเฝ้าระวังบริเวณอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยประมาณ 53% ของลำน้ำ และการเตรียมการพร่องน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อรองรับสถานการณ์ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมขังแบบปี 2554 อย่างแน่นอน.