ตื่นตระหนกกันอีกครั้งกับข่าว...กระต่ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้า

แถมกัดคนจนทำให้ได้รับเชื้อไปด้วย ความจริงอีกด้านยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ... “โรคพิษสุนัขบ้า” อีกหลายแง่มุม

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์  เหมะจุฑา, ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองและศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลเริ่มต้นที่คำว่า “สัตว์นำโรค”


“คิดว่าลูกสุนัขและแมว ไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า” จริงๆแล้วสุนัข แมวอายุเท่าใดก็แพร่โรคได้ แม้แค่เพียง 1 เดือน หรือ... “คิดว่าสุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น” จริงๆแล้วเป็นได้ทุกฤดูกาล ฉะนั้นการฉีดวัคซีนในสัตว์ไม่จำเป็นต้องรอฤดูกาล และคนเมื่อถูกกัด ไม่ว่าฤดูไหนก็ตามต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน

“คิดว่าหากถูกสุนัขหรือแมวกัดโดยอาการของสัตว์ปกติดี ก็ไม่น่าจะเป็นบ้า”...จริงๆแล้ว...สุนัขและแมวสามารถแพร่เชื้อโรคได้ถึง 10 วัน ก่อนจะแสดงอาการ หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ดังนั้นถ้าสัตว์ดูยังปกติ อย่าได้นิ่งนอนใจเด็ดขาด ต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน และจับแยก และกักขังสุนัขหรือแมวนั้นๆ หากแสดงอาการผิดปกติ ต้องตัดหัวนำไปส่งตรวจทันที ถ้าผ่าน 10 วันไปแล้วไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าไม่เป็น

คราวนี้ก็มาถึงคำว่า “โรคพิษสุนัขบ้า”...“คิดว่าการฉีดวัคซีนในสุนัขหรือแมวจะป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100%” จริงๆแล้วหากสัตว์ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าแล้วและอยู่ในระยะฟักตัว การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผล

ดังนั้นการนำสุนัข แมวมาเลี้ยงต้องรู้ประวัติพ่อแม่และการเลี้ยงดูที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

“คิดว่าสุนัขหรือแมวที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้งจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ไม่มีโอกาสเป็นบ้า”...จริงๆแล้ว...ยังมีโอกาสเป็นบ้าได้ ดังนั้นสุนัขและแมวต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้งในปีแรก และ 1 เข็มต่อปี มิฉะนั้นยังมีโอกาสเป็นบ้าได้เมื่อได้รับเชื้อ

ทั้งนี้อาจต่างจากบางประเทศที่เจริญแล้วที่สุนัขและแมวหลังจากที่ได้รับการฉีดครั้งแรกแล้ว ไม่ต้องฉีดประจำทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากโอกาสที่สุนัขและแมวจะได้รับเชื้อมีน้อยมากเหลือเกินและจะทำการฉีดกระตุ้นต่อเมื่อมีการสัมผัสโรคจริงๆเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่เป็นประเทศที่ชุกชุมด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข และโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับเชื้อค่อนข้างมีสูง

“คิดว่าสุนัขและแมวที่เราเลี้ยงและเคยได้รับวัคซีนมาก่อนถูกสุนัขบ้ากัดก็ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค”...จริงๆแล้ว...ต้องได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำ และกักขังดูอาการอย่างน้อย 45 วัน แต่ถ้าสุนัขและแมวนั้นไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเมื่อถูกสุนัขบ้ากัด องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำลายเพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้ฉีดวัคซีนทันทีและกักขังดูอาการ 6 เดือนและฉีดวัคซีนซ้ำ 1 เดือนก่อนปล่อย

คราวนี้ก็มาถึงความเชื่อมโยงระหว่าง “กระต่าย” กับ “เชื้อสุนัขบ้า”

“คิดว่าสุนัขและแมวเท่านั้นที่แพร่เชื้อสู่คนได้” ...จริงๆแล้ว...สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเป็นโรคและแพร่โรคได้เช่นกัน ทั้งนี้แม้แต่ลิง หนู และกระต่าย

อย่างไรก็ดี  ในกรณีหนูกับกระต่าย เมื่อติดเชื้อและเกิดโรค ความสามารถในการแพร่โรคกระจายในหมู่พวกเดียวกันเองจะต่ำมาก และไม่ถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการแพร่โรค แต่ถ้าคนถูกหนูหรือกระต่ายกัดให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป

“การตรวจหาเชื้อในสมองสัตว์จะช่วยตัดสินได้เด็ดขาดว่าควรต้องให้การรักษาแก่คนที่ถูกกัดหรือไม่ อนึ่ง ระยะเวลา 10 วันที่ใช้ในการจับแยกและกักขังเพื่อดูอาการว่าเป็นบ้าหรือไม่ ใช้ได้กับสุนัขและแมวเท่านั้น”

สิ่งสำคัญคือการติดเชื้อในคนและการป้องกันโรค คุณหมอธีระวัฒน์ ย้ำว่า “คิดว่าการกัดคนทั้งๆที่ไม่ได้ถูกแหย่เป็นเครื่องแสดงว่าสุนัข แมวนั้นๆเป็นบ้า” จริงๆแล้ว...สุนัข แมวที่เป็นบ้า กัดคนโดยที่แหย่หรือไม่ได้แหย่ก็ได้ เมื่อถูกกัด ต้องไปรับการรักษาเช่นกัน

“คิดว่าการข่วนจากสุนัขหรือแมวไม่น่าจะติดโรคพิษสุนัขบ้าได้”...จริงๆ แล้ว...การข่วนด้วยเล็บก็ทำให้ติดโรคและตายได้ เนื่องจากสุนัข...แมวเลียอุ้งตีนและเล็บ อาจมีไวรัสจากน้ำลายติดค้างอยู่ที่เล็บและแพร่เชื้อได้หากแผลมีเลือดออกแม้เพียงซิบๆ

และ “เมื่อถูกสุนัขกัด คิดว่าเอารองเท้าตบหรือราดด้วยน้ำปลาจะช่วยฆ่าเชื้อได้” ...จริงๆแล้ว....เมื่อถูกกัดต้องล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นพบแพทย์ทันที เพื่อล้างแผลอีกครั้ง และฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาไอโอดีน

ข้อห้าม ควรหลีกเลี่ยงการเย็บแผล ถ้าจำเป็นเย็บได้หลวมๆ การเย็บปิดแผล จะส่งเสริมให้เชื้อเข้าเส้นประสาทได้ไวและเร็วขึ้น การปฏิบัติตามความเชื่อผิดๆเหล่านี้ทำให้มีคนเสียชีวิตมาแล้วนักต่อนัก

“เมื่อถูกสุนัขหรือแมวที่มีเชื้อกัด คิดว่ามีโอกาสรอดแม้ไม่ได้รับการรักษา”...จริงๆแล้ว...ถ้าคนถูกกัดแล้วมีอาการจะเสียชีวิตทุกรายภายใน 5–11 วัน แต่คนที่รอด ไม่ได้หมายความว่าคาถาดี

ทั้งนี้เพราะ ไม่มีไวรัสในน้ำลายตลอดเวลา ซึ่งพบได้ 30–80% หรือเฉลี่ยครึ่งต่อครึ่ง

“คิดว่ารอให้สุนัข แมว ที่กัดแสดงอาการหรือตายก่อน จึงค่อยพาคนที่ถูกกัดไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน” ...จริงๆแล้วการฉีดยาป้องกันที่ได้ผลสูงสุดอยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด และถ้าแผลมีเลือดออกไม่ว่าตำแหน่งใดของร่างกายต้องได้เซรุ่ม (อิมมูโนโกลบูลิน) ชนิดสกัดบริสุทธิ์ ฉีดที่แผล

สุดท้าย...เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า การประชุมองค์การอนามัยโลก ปี 2547, ปี 2553 และการประชุมนานาชาติ เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2548 มีหลักฐานชัดเจนว่า ถึงแม้จะรักษาทันท่วงที ก็อาจเสียชีวิตได้

แม้ว่าความรุนแรงข้างต้นจะมีโอกาสเกิดได้น้อยมากๆก็ตามในประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปี 2542 มีรายงานผู้ป่วยตาย 2 ราย และในปี พ.ศ.2552 รายงานผู้ป่วย 1 ราย แม้ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนและเซรุ่ม และพบด้วยว่ามีผู้ป่วยตายในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า ด้วยเหตุผลนี้จึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมสัตว์นำโรค โดยเฉพาะสุนัขและแมว และคนที่มีโอกาสถูกสุนัขหรือแมวกัดบ่อยๆ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า

ซึ่ง...ฉีดเพียง 3 เข็ม โดยที่แม้ว่าจะถูกกัดในอนาคต 10–20 ปี ก็ตาม เพียงได้รับวัคซีนกระตุ้น 2 เข็ม โดยไม่ต้องฉีดเซรุ่มก็ปลอดภัยแล้ว

“โรคพิษสุนัขบ้าในคน”...มีอาการซับซ้อนและไม่จำเป็นต้องมีอาการกลัวน้ำ กลัวลม หรือมีน้ำลายมาก แต่มีอาการคล้ายโรคทางสมองทั่วไป หรืออาการอัมพาต แขนขาอ่อนแรง น่าสนใจว่า ร้อยละ 10 ของผู้ป่วย...ไม่มีประวัติถูกสัตว์กัด หรือถูกกัดบ่อยมากจนคิดว่าไม่สำคัญ

ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้พัฒนาวิธีการวินิจฉัย โดยใช้รูปแบบที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง และวิธีทางอณูชีววิทยา โดยตรวจหา RNA ของไวรัสในน้ำลาย น้ำไขสันหลัง ปมรากผม ปัสสาวะ จนถึงปัจจุบันได้ทำการตรวจยืนยันให้กระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2544 เป็นจำนวนมากกว่า 60 ราย และวิธีการทั้งหมดได้รับการบรรจุในคู่มือขององค์การอนามัยโลก

“ถึงแม้ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย แต่การวินิจฉัยยืนยันที่ถูกต้องจะนำไปสู่การค้นหาต้นตอของโรค โดยพุ่งเป้าไปยังกลุ่มสุนัขที่กัดผู้ป่วย ทั้งนี้เนื่องจาก สุนัขตัวการนอกจากจะแพร่โรคให้ผู้ป่วยแล้วยังมีโอกาสแพร่โรคไปยังสุนัขใกล้เคียง และสุนัขเหล่านั้นเท่ากับเป็นระเบิดเวลาเคลื่อนที่ พร้อมที่จะแพร่โรคต่อไปในอนาคต...

และต้องไม่ลืมว่าคนที่สัมผัสผู้ป่วยก็มีโอกาสติดเชื้อได้จึงต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม”

ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองและศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝากทิ้งท้ายด้วยความห่วงใย.

...