หัวหน้าพรรคประชาชน ยืนยันขอพักแก้ไข รธน. ประเด็นจริยธรรม แต่เชื่อพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับประเด็นอื่น หาก “วันนอร์” บรรจุร่างแก้ไขมาตรา 256 ทำประชามติแค่ 2 ครั้ง อาจแก้ทั้งฉบับทันปี 70 มอง ไม่มีความจำเป็นถอนรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม ย้ำ ทุกคดีการเมืองควรได้รับความเป็นธรรม


วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชนเสนอ 7 แพ็กเกจแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่า พรรคประชาชนยืนยันว่าประเด็นเรื่องมาตราฐานจริยธรรมมีปัญหา แต่ตอนนี้ที่พักไว้ก่อน เพราะเกรงว่าพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย อาจทำให้การเดินหน้าต่อทั้ง 7 แพ็กเกจ จะถูกตีตกไปทั้งหมด และนอกจากเรื่องมาตราฐานจริยธรรม ก็มีอีกหลายประเด็นที่มีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เช่น เรื่องการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร สิทธิการศึกษา เป็นต้น 

ทั้งนี้ นายณัฐพงษ์ เชื่อว่า การแก้ไขในประเด็นที่เหลือ พรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นตรงกัน และไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่เห็นด้วย พร้อมยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ 2 แนวทางพร้อมกัน คือแก้ไขทั้งฉบับ และแก้ไขรายมาตรา ขณะที่มาตรฐานจริยธรรม เราได้เสนอแก้ในเชิงระบบ นักการเมืองยังควรต้องมีจริยธรรม แต่ควรเป็นกลไกที่ตรวจสอบกันได้ภายในองค์กรด้วยกันเอง ไม่ใช่ถูกผูกขาดโดยองค์กรที่กำหนดกติกาเอง และใช้บังคับเอง อันนำมาสู่การกลั่นแกล้งทางการเมืองได้

นายณัฐพงษ์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ในประเด็นนี้ ทั้งหน้าบ้าน และหลังบ้านตามปกติ ในเมื่อพรรคประชาชนได้พักประเด็นเรื่องมาตราฐานจริยธรรมไว้ก่อน จึงไม่น่ามีเหตุผลใดอื่นที่จะไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่เหลือ และยังไม่เห็นสัญญาณในเชิงไม่เห็นด้วย แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ความคิดเห็นอาจจะเปลี่ยนได้ จึงขอให้ติดตามการประชุม คาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้

...

ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ล่าสุด วุฒิสภาลงมติให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำให้ต้องส่งร่างกฎหมายกลับมาสู่สภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ ระบุว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันในการเลือกตั้งปี 2570 เพราะอาจต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม และกระบวนการจัดทำประชามติยืดเยื้อออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อว่าพอมีหนทาง ที่จะแก้ไขทั้งฉบับให้ทันในการเลือกตั้งปี 2570 ถ้าเราทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเองก็เห็นด้วย จึงอาจจะต้องมีการหารือร่วมกัน รวมถึงหาทางออกร่วมกับประธานรัฐสภา ว่าจะสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยที่ไม่ต้องทำประชามติครั้งแรกก่อน ก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันปี 2570 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลขอเลื่อนการเสนอรายงานการศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมออกไปก่อน เพื่อหารือกับหัวหน้าพรรคต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การเสนอรายงานดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น และเสนอตัวเลือกในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จึงไม่เห็นความจำเป็นในการถอนร่างออกไป และจุดยืนของพรรคประชาชน เห็นว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองควรได้รับการเยียวยา และได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีด้วยมาตราใดก็ตาม ควรจะได้รับความเป็นธรรม