“ชูศักดิ์” ปัดข้อเสนอ “ปิยบุตร” ปลดล็อกแก้รัฐธรรมนูญ อ้างต้องคุยในวงหัวหน้าพรรคร่วมฯให้ตกผลึกก่อน ส่วนร่างนิรโทษกรรมขอฟังจากทุกพรรค “สมชัย” แซวรัฐบาลปอดแหกยกร่าง รธน.ใหม่ วุฒิสภาข้างมาก 167 ต่อ 19 เสียง เห็นชอบตาม กมธ.ปรับแก้เกณฑ์ประชามติต้องทำ 2 ชั้น “นันทนา” เชื่อมีใบสั่ง หลัง หน.พรรคร่วมฯออกโรงต้านแก้ รธน. “นิกร” ห่วง สว.ปิดสวิตช์ กกต.รับรอง “จเด็ศ” เป็น สส.พิษณุโลก ทบ.-ทร.จัดพิธีส่งไม้ต่อ ผบ.คนใหม่
ที่ประชุมวุฒิสภาเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ตามที่ กมธ.วิสามัญฯแก้ไขหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กมธ.เสียงข้างน้อย เชื่อว่ามีใบสั่ง หลังหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ชูศักดิ์” ปัดนิ่มๆ ข้อเสนอ “ปิยบุตร”
เมื่อเวลา 10.05 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เสนอ 2 แนวทางในการทำประชามติ ให้ลดเหลือ 2 ครั้งว่า เห็นแนวทางที่นายปิยบุตรเสนอแล้วต้องคุยกัน เมื่อถามว่ามีโอกาสลดเหลือ 2 ครั้งหรือไม่ นายชูศักดิ์ตอบว่า เป็นแนวคิดทางกฎหมาย ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ ต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไร ขณะนี้แนวคิดทางกฎหมายมีความเห็นหลากหลาย ส่วนที่นายปิยบุตรระบุว่าถ้าทำประชามติ 3 ครั้ง จะทำให้การทำประชามติช้าไป 8-10 เดือนนั้น ตรงนี้เราทราบดีถือเป็นข้อกังวลหนึ่ง เอาไว้หารือกันก่อน ตอนนี้กำลังพูดคุยกับหลายฝ่ายว่าควรจะเป็นเมื่อไหร่
มัดพรรคร่วมแก้ รธน.ยังไงเอาให้ชัด
...
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีวุฒิสภามีแนวโน้มจะแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ กลับไปใช้เสียง 2 ชั้น ต่างจากร่างของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ต้องดูว่าท้ายที่สุดมติวุฒิสภาจะออกมาอย่างไร หากเป็นเช่นนั้นก็อาจต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน ทำให้กฎหมายช้ากว่าไทม์ไลน์ ไม่สามารถทำได้ทันกับการเลือกนายก อบจ.ในเดือน ก.พ.2568 ทางออกที่ดีที่สุดคือการหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมือง ต้องคุยกันให้ชัดว่าการเดินต่อไปควรเดินแบบไหน เช่น จะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เลยหรือไม่ อยากให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคุยกันให้ชัด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาล ต้องหารือว่าเราควรเดินอย่างไรต่อไป มีทางเลือกอะไรบ้าง จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราบรื่น นโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภายังมีอยู่
ขอฟังทุกพรรคก่อนดันร่างนิรโทษ
นายชูศักดิ์ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 ต.ค. เพื่อพิจารณารายงานการศึกษาการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า คิดว่าเพื่อให้เป็นไปได้ดีที่สุดและละมุนละม่อมที่สุด ควรนำเรื่องทั้งหมดไปหารือกับหัวหน้าพรรค การเมืองทุกพรรค รวมถึงฝ่ายค้าน เพื่อให้ตกผลึก ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในสภาฯ หากเราไม่ฟังกัน เมื่อมีการเสนอจะคล้ายกับเรื่องรัฐธรรมนูญที่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้ปรึกษานายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล อยากให้เลื่อนวาระออกไปเพื่อรอฟังความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคการเมืองให้ครบถ้วนก่อน ไม่น่าสายเกินไป อย่างการนิรโทษกรรมมาตรา 112 บางพรรคต้องการ บางพรรคไม่ต้องการ ในการพูดคุยอาจรวมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องคุยกัน
พิสูจน์ยากใบสั่งแก้ประชามติ 2 ชั้น
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเสียงครหาว่าที่ประชุมวุฒิสภาอาจมีใบสั่งให้พลิกมติร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า จะพูดว่ามีใบสั่งก็พูดยาก เราไม่มีหลักฐานอะไร เราอยากแก้ร่างประชามติที่ต้องใช้เสียง 2 ชั้นให้มันง่ายขึ้น ให้สามารถแก้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสามารถทำอะไรได้ทั้งหมด ทุกอย่างมีกฎเกณฑ์กติกาอยู่ รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าไม่แตะต้องกฎหมายสำคัญ เช่น หมวด 1 หมวด 2 หรือที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อถามว่าวุฒิสภาถูกมองว่าต้องการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มรดกของ คสช. นายภูมิธรรมตอบว่า เราไม่อาจสรุปไปแบบนั้น ถือเป็นความเห็นหนึ่ง ยังไม่มั่นใจว่า สว.เสียงส่วนใหญ่จะเห็นตาม กมธ.เสียงข้างมากหรือไม่ หวังว่า สว.จะช่วยกันพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ดี อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องนัดคุยกับพรรคร่วมเป็นพิเศษ เพราะทุกวันนี้มีการพูดคุยกันอยู่แล้ว
แซว รบ.ปอดแหกยกร่าง รธน.ใหม่
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า อย่ากลัวหาก สว.จะแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประชามติ ของสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นหวาดหวั่นคือการแก้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น สำหรับทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ หากใช้เกณฑ์นี้รัฐบาลจะจัดลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในเดือน ก.พ.2568 อาจเป็นเกือบปลายปี 2568 รัฐบาลก็ไม่ต้องปอดแหก ครม.ควรมีมติให้ทำประชามติ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้เลย ไม่ต้องสนใจ พ.ร.บ.ประชามติ จะมีหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นหรือไม่ หาก ครม.ยังยึกยักไม่ยอมให้ลงประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญ ใหม่ทั้งฉบับ ก็สมควรด่าพรรคเพื่อไทยและนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ที่เป็นตัวหลักในเรื่องนี้ว่าตระบัดสัตย์อีกรอบได้เลย
กลุ่มพันธุ์ใหม่งัดข้อสายน้ำเงิน
ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การ ออกเสียงประชามติ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พิจารณาเสร็จแล้ว มีการแก้ไขเนื้อหาจากร่างสภาผู้แทนราษฎร เรื่องหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้เสียงลงคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิในเรื่องที่จัดทำประชามติ แตกต่างจากร่างเดิมที่ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเท่านั้น โดย กมธ.เสียงข้างน้อย และ สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ต่างอภิปรายคัดค้าน น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า เชื่อว่ามีใบสั่งอย่าความจำสั้น ก่อนหน้านี้มติ กมธ.ยังให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แต่มากลับลำในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.ย. เพราะมีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“นิกร” ห่วงปิดสวิตช์แก้ รธน.ยาก
นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก เพราะเป็นอุปสรรคให้ประชามติผ่านยาก ควรใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว หาก สว.ลงมติเห็นชอบกับการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ต้องส่งร่างกลับไปยังสภาฯ เชื่อว่าสภาฯจะยืนยันตามร่างเดิมของตัวเอง สิ่งที่ตามมาต้องตั้ง กมธ.ร่วมฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ร่างดังกล่าวจะถูกแขวนไว้ 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงสามารถยืนยันใช้ร่างฉบับของตัวเองได้ ส่งผลกระทบให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ ใครจะรับผิดชอบที่ไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ขอเสนอทางออกคือถ้า สว.ส่งร่างคืนมาให้สภาฯ จะมีการตั้ง กมธ.ร่วมในวันที่ 9 ต.ค. ระหว่างนั้นมีเวลาวันที่ 16-23 ต.ค. ที่ กมธ.ร่วมจะหาทางออกร่วมกัน ถ้าตกลงกันได้ก็ทำประชามติทันวันที่ 2 ก.พ.2568
ข้างมากลากไปทำประชามติ 2 ชั้น
ขณะที่นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาวงศ์ สว. กมธ.เสียงข้างมาก อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว การอ้างว่าเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะทำให้การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญผ่านได้ยากนั้น ขอให้ดูการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 ทั้ง 2 ฉบับพบว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ และคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ ต่างผ่านหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นทั้งสิ้น อย่าอ้างทำให้การทำประชามติเป็นไปได้ยาก สิ่งที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญมีแต่แก้จริยธรรมนักการเมือง ไม่มีประเด็นแก้เพื่อประชาชน
นายสิทธิกร ธงยศ สว. อภิปรายว่า เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นมีความชอบธรรม ความพยายามให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งนายกอบจ. ไม่ชอบมาพากล ขณะนี้มีพรรคการเมืองใหญ่เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. แล้ว 70-80% หาก สว. ให้ทำประชามติวันดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือนักการเมือง เป็นเรื่องแอบแฝงจัดตั้งมีระบบอุปถัมภ์ จะได้รัฐธรรมนูญไม่มีคุณภาพ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หลงเกมนักการเมือง หลังอภิปรายเสร็จ ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน 167 ต่อ 19 เสียง งดออกเสียง 7 ส่งร่างให้สภาผู้แทนราษฎร จะยืนยันเนื้อหาตามที่ สว.แก้ไขหรือไม่ ถ้าไม่ยินยอมต้องตั้ง กมธ.ร่วมมาพิจารณาต่อไป
“พิชัย” ฉุน ธปท.เมินช่วยเอสเอ็มอี
ช่วงสายที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามของ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ถามนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เรื่องการแก้ไขปัญหาอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน นายพิชัยชี้แจงว่า ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาจีนที่เป็นตลาดใหญ่ จีนยืนยันพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด ส่วนตัวไม่ยอมเด็ดขาดหากขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าจีนที่มาแทรกแซงเอสเอ็มอีเป็นแค่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุมาจากโควิด ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ยอมลดดอกเบี้ย พอตำหนิ ธปท. คนก็มาตำหนิตน ถ้าเศรษฐกิจแย่ขนาดนี้ต้องออกมาตรการช่วยเหลือให้ฟื้นเหมือนจีนที่ออกแพ็กเกจใหญ่มาช่วย แต่ 10 ปี ธปท.ไม่ทำอะไร ทั้งที่มีหน้าที่ช่วยเศรษฐกิจ ไม่ใช่ให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังมีหน้าที่อย่างเดียว รัฐบาลพยายามแก้ทุกทาง แต่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อฝ่าวิกฤติ
“น้ำ” มั่นใจ “อิ๊งค์” นำโด่งด้วยผลงาน
ขณะที่ น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนิด้าโพล ปรากฏว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 1 ว่า นายกฯและรัฐบาลมุ่งมั่นทำงานแก้ไขปัญหาประชาชนต่อเนื่อง ดำเนินการตามนโยบายที่แถลงไว้ หลายนโยบายมีความคืบหน้า อาทิ นโยบายเรือธงแจกเงิน 1 หมื่นบาท เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชน พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ขยายโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม สร้างความเชื่อมั่นบนเวทีโลก สอดคล้องผลสำรวจผลงานที่ประชาชนชื่นชอบประจำเดือน ก.ย.ของสวนดุสิตโพล พบนโยบายเงินหมื่นเป็นผลงานเด่นของรัฐบาลที่ประชาชนกว่าร้อยละ 61 ชื่นชอบ ตามมาด้วยการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่ออีก 3 เดือน
“เรืองไกร” ซ้ำแซะสอบหุ้นอัลไพน์
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เตรียมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ กรณีเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ตั้งแต่เป็นนายกฯวันที่ 16 ส.ค.2567 ถึง 3 ก.ย.2567 เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ และขอส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ เนื่องจากตามหลักฐานที่ขอคัดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 พบว่า น.ส.แพทองธารเพิ่งโอนหุ้นอัลไพน์ฯ 22,410,000 หุ้น ให้แก่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา ในวันที่ 3 ก.ย.2567
กกต.รับรอง “จเด็ศ” สส.พิษณุโลก
อีกเรื่อง ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติรับรองผลการเลือกตั้ง สส.พิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง ที่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ให้นายจเด็ศ จันทรา ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เป็น สส. ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งนายจเด็ศได้ 37,209 คะแนน ชนะนายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาชน ที่ได้ 30,640 คะแนน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 7,261 คะแนน บัตรเสีย 1,106 ใบ มีประชาชนมาใช้สิทธิ คิดเป็น 54.59% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 138,705 คน
ทร.จัดพิธีส่งไม้ ผบ.ทร.คนใหม่
ที่พระราชวังเดิม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ทำพิธีส่งมอบหน้าที่ให้แก่ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร.คนใหม่ มีนายทหารชั้นนายพลที่ได้รับการโปรดเกล้าฯใหม่ เข้าร่วมพิธี มีกำลังพล ตั้งแถวมอบดอกกุหลาบให้ พล.ร.อ.อะดุง ทำให้พล.ร.อ.อะดุงถึงกับปลาบปลื้มน้ำตารื้น พล.ร.อ.จิรพล ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ว่า คงให้คณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำ มาชี้แจงในรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนโครงการจัดหาเรือฟริเกตในงบประมาณประจำปี 2569 กองทัพเรือ มีแผนพัฒนากำลังรบอยู่แล้ว ทั้งเรืออากาศยาน เรือดำน้ำ รถรบ ยานเกราะ ปืนใหญ่ สิ่งเหล่านี้จะถูก นำเรียน รมว.กลาโหม ถึงเวลาที่ต้องวางแผนร่วมกัน ถ้าท่านเห็นชอบด้วยก็เดินหน้า ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันว่ากองทัพมีหน้าที่สนับสนุนความมั่นคงให้กับประเทศ และรัฐบาล ถ้ารัฐบาลบอกว่าเอาไว้ก่อน ความสามารถของเราก็จะถดถอยลง ถ้ารัฐบาลยอมรับได้ รวมถึงฝ่ายค้านยอมรับได้ กองทัพเรือก็ไม่สามารถไปดึงดันอะไร ทุกคนต้องยอมรับร่วมกันว่าถ้าเราไม่มีสิ่งนี้จะทำอะไรไม่ได้บ้างเท่านั้นเอง
ขึงขังเรือดำน้ำต้องเดินหน้าต่อ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะจบจากโรงเรียนนายเรือ เยอรมันและจบหลักสูตรดำน้ำ จะแก้ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ และอนาคตจะซื้อเรือดำน้ำเยอรมันหรือไม่ พล.ร.อ.จิรพลกล่าวว่า ต้องค่อยๆก้าวเดินทีละก้าว กินข้าว ทีละคำ ดูว่ารัฐมนตรีสงสัยเรื่องอะไรก่อนจะได้เข้าไปชี้แจง เรื่องเรือดำน้ำเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าชัดเจนอยู่แล้ว
ทบ.จัดพิธีรับ-ส่งหน้าที่ ผบ.ทบ.
ช่วงบ่ายที่ บก.ทบ. ถนนราชดำเนิน พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. และ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ.คนใหม่ ร่วมทำพิธีรับ-ส่งหน้าที่ ผบ.ทบ. เริ่มตั้งแต่พิธีสักการะศาลพระชัยมงคลภูมิ วางพานพุ่ม ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ณ บริเวณหน้าหอประชุมกิตติขจร จากนั้น พล.อ.
เจริญชัย และ พล.อ.พนา เดินขึ้นแท่นรับการเคารพ หลังจากทั้งคู่กล่าวรับ-ส่งมอบหน้าที่แล้ว มีพิธีเดินสวนสนามของกองผสม จากหน่วยต่างๆของกองทัพบก มี พล.ต.สิทธิพร จุลปานะ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) เป็นผู้บังคับกองผสม เพื่อเป็นการสดุดี และแสดงความเคารพแก่ผู้บัญชาการทหารบกทั้ง 2 ท่าน
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่