ปธ.กมธ.อุตสาหกรรม สภาฯ บุกจีน ดันนโยบายเพิ่มสัดส่วนสินค้าไทยในอุตสาหกรรม EV สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย หนุนนโยบาย “เอกนัฏ” รุกคืบหารือเพิ่มการลงทุน-นำเข้าสินค้าไทยกับฉงชิ่ง

วันที่ 30 กันยายน 2567 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดราชบุรี เขตเลือกตั้งที่ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า ตนในฐานะประธาน กมธ.อุตสาหกรรม และคณะ เดินทางมายังนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมหารือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนให้มีการใช้สินค้า หรือชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทยโดยผู้ประกอบการชาวไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และยังเป็นการเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการผลิตในประเทศไทยด้วย

โดยส่วนหนึ่งของการหารือในครั้งนี้ได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board) โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนอยู่ในระดับสูง และในอนาคตจะมีการใช้งาน PCB ในเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท อีกทั้งการร่วมหารือในครั้งนี้ได้รับผลการตอบรับที่ดีมากจากผู้ร่วมหารือทุกๆ ฝ่าย และมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อหารือต่อไป เพื่อนำไปสู่การใช้ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทยมากกว่าที่กฎหมาย หรือเกณฑ์ที่ BOI ได้กำหนดไว้

...

สำหรับการหารือของประธาน กมธ.อุตสาหกรรม และคณะ ในครั้งนี้มีการหารือร่วมกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตวัสดุสำหรับผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ (PCB) และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ฉางอัน นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน นครฉงชิ่ง

นายอัครเดช กล่าวในประเด็นนี้ว่า เป็นการหารือเพื่อพัฒนาไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคตใน 2 ด้าน ด้านแรก คือ เป็นการหารือเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมายังนครฉงชิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรม หรือสินค้าทางการเกษตร ด้านที่ 2 เป็นการหารือเพื่อให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และควรต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งทางคณะกรรมการดังกล่าวต่างแสดงความสนใจที่จะร่วมพัฒนาการลงทุนและการค้าร่วมกับไทยในอนาคต

ประธาน กมธ.อุตสาหกรรม กล่าวในตอนท้ายว่า การเจรจาและผลักดันในครั้งนี้ นอกจากเป็นสิ่งที่ตนได้ให้ความสำคัญผ่านการร่วมหารือกับผู้แทนของประเทศจีนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายรวมถึงเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อันเป็นหนึ่งในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย.