เดิมทีวันนี้ พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะได้ฟังข่าวดี ที่รัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวงเล็บว่าไม่ได้ขึ้นทุกสาขาอาชีพ แต่เผอิญว่า คณะกรรมการค่าจ้างที่ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน ไม่พร้อมที่จะประชุมลงมติให้ขึ้นค่าแรง รัฐบาลก็เลยยังประกาศค่าแรงไม่ได้ ถึงขนาด รมว.แรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ ออกมาประกาศขอโทษพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ชักแม่น้ำทั้งห้า ตัดจบเอาดื้อๆ

ไหนๆก็พูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ในทางทฤษฎี เหมือนการละคร ที่เล่นละครกันทั้งฝ่ายนายจ้างและภาครัฐคือไม่จริงใจทั้งคู่ ดีไม่ดี ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ (นักการเมือง) และผู้ประกอบการ เล่นละครตบตาผู้ใช้แรงงานอยู่ด้วยซ้ำ ฮั้วกันไปฮั้วกันมา ไม่ต้องอะไรมาก การที่รัฐบาลมีมติต่ออายุให้คนงานต่างด้าวสามารถทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ทีละ 3 เดือน 6 เดือน คนที่เดือดร้อนคือนายจ้าง ที่ต้องจ่ายค่าหัวให้ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว แล้วจำนวนน้อยเสียเมื่อไหร่ ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ประมาณ 4-5 ล้านคน เสียกันหัวละ 2 พันบาท คิดเป็นเงินไทยก็ 8 พันล้าน หรือเอาแบบถูกกฎหมายแค่ 3 ล้านคน ก็ 6 พันล้าน ทั้งๆที่รู้ว่าประเทศไทยต้องการแรงงานต่างด้าว ทำไมไม่วางแผนระยะยาวว่าแต่ละปีต้องใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนเท่าไหร่ จะให้ภาครัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชนเป็นคนบริหารจัดการที่แยกออกมาจากกระทรวงแรงงานให้ชัดเจนเพื่อง่ายแก่การบริหารจัดการและป้องกันการหาผลประโยชน์ ซ้ำยังเป็นประโยชน์การวางแผนการลงทุนของนักลงทุนในระยะยาว หมดปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำระหว่างแรงงานต่างด้าวกับแรงงานคนไทย และไม่กระทบกับอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ที่ถูกยึดไปโดยแรงงานต่างด้าว

สาเหตุก็เพราะเกรงว่า จะเสียผลประโยชน์ที่กล่าวมาแล้ว ทั้งฝ่ายนายจ้างและภาครัฐ

แนวคิดเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากเครื่องมือหาเสียงของรัฐบาล เช่นเดียวกับโครงการแจกเงินหมื่นให้คนชราและผู้พิการ ผลลัพธ์สุดท้ายคือไปกระตุ้นเศรษฐกิจของผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ทั้งห้างสะดวกซื้อ ขายปลีกขายส่ง ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า (ไม่มีผลกับการขึ้นค่าจ้าง) ร้านค้าชุมชน ขายได้แต่กะปิน้ำปลา 20-30 บาท เวลานี้อาชีพรับจ้างทั่วไป วันละ 200-300 บาท ก็ไม่มีคนรับจ้าง คนจบปริญญาตรี มาทำงานโรงงานเพราะความรู้ที่เรียนมา ไม่ตรงกับตำแหน่งงาน สุดท้ายใช้วุฒิ ม.6 ไปสมัครงานโรงงาน ได้ค่าแรงวันละ 400 บาทเท่ากับคนที่จบ ม.3 ม.6 ถ้าไม่ทำโอที ไม่มีทางได้รับเงินเดือนถึง 15,000 จะบอกว่าคนจบวุฒิปริญญาตรีจะได้เงินเดือน 17,000 บาททุกคน ก็ไม่ใช่ ยังไม่นับรวมกับค่าครองชีพ ค่าเช่าบ้าน ค่ารถโดยสาร ค่าอาหาร ส่งกลับบ้านให้พ่อให้แม่เดือนละ 1-2 พันบาท เฉลี่ยต้องหาเงินให้ได้เดือนละ 15,000 บาท ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีเหตุฉุกเฉินเท่ากับตายทั้งเป็น

...

เป็นคำตอบสุดท้ายว่าทำไมหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบถึงได้สูงถึง 91% ของจีดีพี

ไม่รวมกับปัญหาทางสังคม การละเมิดแรงงานเด็กและสตรีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯระบุว่า ทางการไทยมีการดำเนินคดีกับผู้ที่แสวงหาประโยชน์การค้าทางเพศจากเด็กไม่น้อยกว่า 197 คดี ถึงเวลาที่เราจะรื้อคำนิยาม ค่าแรงขั้นต่ำ และใช้วิธีการตอบแทนด้วยสวัสดิการจากรัฐครบวงจรได้หรือยัง เช่น ไปเน้นเรื่องการศึกษากับสาธารณสุขดีกว่าไหม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม