งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา สิ้นเดือนกันยายน สัปดาห์สุดท้ายของฤดูเกษียณอายุข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงลูกจ้างเอกชน จัดเลี้ยงอำลาอาลัยกันตามธรรมเนียมแบบไทยๆ แต่ก็มีอีกบางส่วนที่แทบไม่มีเวลาได้พักสังสรรค์ในวันเกษียณ พวกที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ ภาคเหนือ อีสาน ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงกองทัพ ที่ต้องเจองานหนักส่งท้ายในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย
ภายใต้วิกฤตการณ์หนักหนาสาหัส หลายจังหวัดยังอยู่ในภาวะน้ำหลากท่วมเมือง เชียงรายเพิ่งแห้งหมาดๆ เชียงใหม่กำลังเจอแม่น้ำปิงล้นตลิ่ง พะเยา ลำปาง น่าน แพร่ ยังเสี่ยงน้ำซ้ำ 2–3 รอบ
มวลน้ำไหลลงมาสุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ จ่อพื้นที่ลุ่มภาคกลาง ตามฉากสถานการณ์ระทึก กระตุกขวัญคนเมืองกรุงต้องไล่เช็กแผนที่ ศึกษาเส้นทางน้ำกันหูตาตื่น ผวาน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯเหมือนปี 2554
ณ จุดที่ไม่มีหลักประกัน ภูมิอากาศ “โลกเดือด” คาดการณ์ลำบาก
ลำพังฝ่ายบริหารที่ยังไม่ “เสถียร” สภาพอำนาจการเมืองแกว่งไปแกว่งมา
ตามสายตาประชาชนที่สะท้อนผ่านโพลสำนักมาตรฐาน “นิด้าโพล-สวนดุสิตโพล” คนไทยส่วนใหญ่ ไม่มั่นใจรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในการบริหารจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม
“เดจาวู” อาถรรพณ์ผู้นำหญิงตระกูลชินฯไม่ถูกโฉลกกับอุทกภัย
โจทย์ภัยพิบัติยากๆกดดันนายกฯมือใหม่หัดขับ ตั้งแต่ยังไม่ทันได้ออกตัว
“สนามจริง” ไม่หมู เก้าอี้ผู้นำประเทศไม่ง่ายเหมือนโชว์กินช็อกมินต์ตอนเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อให้มีตัวช่วยสำคัญอย่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯในตำนาน ในฐานะ “ผู้ครอบครอง” ผู้นำคนสุดท้อง
...
ก็ต้องหัวปั่นกับปัญหา “อุบัติใหม่” ไปเร็วกว่าทฤษฎีเก่า
แบบที่มหันตภัยโลกเดือด น้ำท่วมใหญ่ปาดหน้าตีคู่กับภารกิจกู้มหาวิกฤติเศรษฐกิจ ภาวะปากท้องประชาชนรากหญ้าที่ไม่มีเงินประทังชีวิตรายวัน ไปยันผลประกอบการ “ขาดทุนกำไร” ของเจ้าสัวใหญ่ส่งเสียงกระจองอแง รุมเขย่ารัฐบาลให้อุ้มเซ็งแซ่ไปหมด
กดดันมัดคอ “เจ้าตำรับโคตรประชานิยม” ยี่ห้อเพื่อไทยจำต้องยอมเสียฟอร์ม แต่ไม่กล้าเสียคำพูด กัดฟันเดินหน้าลุยเสี่ยงคิวเทกระจาด แจกเงินหมื่นสดๆ ผ่านกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เน้นกลุ่มเปราะบาง เจาะจงผู้พิการก่อน
หมดเวลาผัดผ่อน ไฟต์บังคับ เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้
ตามภาพข่าว ไม่รู้จะปลื้มใจหรือร้องไห้ คนที่ได้รับโบนัสจากรัฐบาล โชว์นับเงินกันหน้าชื่นตาบาน ต่อแถวยาวเหยียดแย่งคิวกดกันตู้เอทีเอ็มแทบไหม้
หักมุมกันเลยกับมอตโต้ คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
เหมือนคนไข้ติดยาพาราเซตามอลแก้ปวด รักษาโรคมะเร็งร้าย รอวันตายวิกฤติเศรษฐกิจไทยไม่มีทางฟื้นด้วยวิชาเศรษฐศาสตร์แบบเดิมๆ
เอะอะก็อัฐยายซื้อขนมยายอัดเงินเข้าระบบ กระตุ้นการหมุนเวียนภายใน
รอถึงจุดน็อกรอบ คลังประเทศกระเป๋าฉีก ตูดขาด มีแต่รายจ่าย ไม่มีรายได้ ตราบใดที่ปัจจัยเหตุแท้จริงไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขตรงจุด
เศรษฐกิจไทยติดหล่มความขัดแย้งเกมอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ขาดการพัฒนาทักษะแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัล
ภายใต้เทรนด์บังคับ เศรษฐกิจสีเขียวเน้นรักษาสิ่งแวดล้อมมาก่อนกำไร
ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติยักษ์ใหญ่พากันปิดโรงงาน ย้ายฐานการผลิตหนีไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพพร้อมกว่า
จาก “เสือเอเชีย” กลายเป็น “สิงห์ป่วยอาเซียน”
และตามสภาพกลวงๆ เมื่อถึงจุดที่เจอแรงกระแทก ปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกกดดัน จากการขยับตัวแรงๆของยักษ์ใหญ่ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยช็อตแรก 0.5 เปอร์เซ็นต์ กระเด็นกระดอนไปทั่วโลก และตกหนักที่ประเทศไทยเจอ 2–3 เด้ง
ดอกเบี้ยเฟดส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยยิ่งแข็งโป๊ก กระทบการส่งออก พ่อค้าสะดุ้งขาดทุนกำไร รัฐบาลผวาปัญหามะรุมมะตุ้ม ผสมโรงไล่บี้ล้อมกรอบกดดัน “ดร.นก” นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ให้รีบปรับนโยบายลดดอกเบี้ยกันหูตาตื่น
เรียกร้องให้แบงก์ชาติเสกค่าเงินบาทให้อ่อนลงในฉับพลันทันใด
ตั้งท่าแทรกแซงกันโจ๋งครึ่ม การเมืองยุ่มย่ามข้ามโซนต้องห้าม ส่อกระทบความเป็นอิสระของ ธปท.ส่งผลต่อเครดิตความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ
สมการปัญหา 3-4 ชั้น โจทย์หินซ้อนโจทย์โคตรหิน
ซาร์เศรษฐกิจยังกุมขมับ นับประสาอะไรกับผู้นำมือใหม่หัดขับกับจังหวะหลุดเต็มๆ ผู้นำหญิงตอบคำถามนักข่าวหลังประชุม ครม. ระบุรัฐบาลสามารถนำข้อดีของค่าเงินบาทแข็งมาใช้ ไม่ว่าการส่งออกหรือการ กระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่รู้ว่าผิดเต็มเปา เลยต้องแก้ข่าวอีกรอบ ยืนยันเรื่องบาทแข็งเป็นปัญหากระทบการส่งออกแน่นอน แต่คิดแง่ดีช่วงบาทแข็งค่าเป็นโอกาสของการนำเข้า หรือการใช้หนี้คืนเงินต่างประเทศ
อ้างมีหลายคำถามทำให้เข้าใจผิด พอไปฟังแล้วสับสนเอง
อารมณ์เขินๆผิดพลาดเล็กๆ แต่พวกที่ซีเรียสไม่ยิ้มด้วย เพราะมันสะท้อนปัญหาใหญ่ๆ หมายถึงเครดิตความเชื่อมั่นในตัวนายกฯเลย
ทั้งโจทย์วิกฤติเศรษฐกิจโหดๆ ทั้งโจทย์ฉุกเฉินภัยพิบัติน้ำท่วม
กดทับผู้นำคนสุดท้องตระกูลชินฯ เพิ่งเริ่มตั้งไข่ ยังขาไม่แข็ง เซแซดๆ แต่นั่นก็คนละเรื่องกันเลยกับจังหวะใส่เกียร์ห้า กระทืบคันเร่งมิดไมล์ พรรคเพื่อไทยชูธงนำในการไล่รื้อรัฐธรรมนูญ โละมรดก คสช.
โดยเฉพาะการลุยแก้ไขปม “จริยธรรม” ล้างพิษยาครอบจักรวาล
จัดอยู่ในคิวเร่งด่วน เน้นลุยเป็นรายมาตรา หงายไพ่เล่น แบไต๋ให้เห็นชัดๆเป็นการดับอาการแพนิก ผวาโศกนาฏกรรมซ้ำรอยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ที่ตกเก้าอี้เพราะ “ต่อมจริยธรรมอักเสบ” โดนศาลรัฐธรรมนูญลงดาบฟัน ฐานแต่งตั้งรัฐมนตรีเคยต้องคดีติดคุก
ต้องรุก ประกันความปลอดภัย “ไข่ในหิน” ของ “เถ้าแก่ใหญ่”
ในสถานการณ์ยากๆอาการเกร็งๆของนายกฯ แพทองธารที่ยังอยู่ใน “เซฟโซน” ระมัดระวังตัวแจ แม้แต่การตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่ง “เทกระโถน” ยังค้างเติ่ง เช็กคุณสมบัติกันละเอียดยิบ
ตามจังหวะติดดาบปลายปืนตะลุมบอนกับทีม “นักร้อง” บ้านป่าฯ
แต่อีกด้านก็มีแนวร่วมคนละอุดมการณ์ ได้กองทัพส้ม ค่ายประชาชนกระโดดร่วมวงแหกวงล้อม “นิติสงคราม” แท็กทีมลุยยึดดาบศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้สั่งยุบพรรค ล้มกระดานรัฐบาลกันง่ายๆ
และนั่นก็กลายเป็นกระตุกต่อมระแวงฝ่ายคุมเกมอำนาจอนุรักษ์นิยม ที่หลอนภาพ “เถ้าแก่ใหญ่–ไพร่หมื่นล้าน” แตะมือกันลับๆ
ทำให้เกมพลิกกลับในชั่วข้ามคืน สัญญาณใหม่
ตามจังหวะยูเทิร์นกลับลำ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย หัวหน้าก๊วนเกรียนเซราะกราว ค่ายภูมิใจไทย ประกาศเสียงดังฟังชัด ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปมจริยธรรม
โชว์หล่อ เอาเวลาไปช่วยชาวบ้านน้ำท่วมเร่งด่วนก่อนดีกว่า
ลีลา “เกรียนหักเหลี่ยม” ก๊วนเซราะกราว ภูมิใจไทย ที่กุมเสียงอันดับสองในรัฐบาล บวกกับ “สว.สายสีน้ำเงิน” ในคาถา “ครูใหญ่” ได้โอกาสพลิกบทเป็น “ผู้คุมเชิง” ในการกำหนดธงฝ่ายโหนขบวนอำนาจอนุรักษ์นิยม
อารมณ์หมั่นไส้แบบที่ “เสี่ยอ้วน” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม พ่อบ้านใหญ่ “จันทร์ส่องหล้า” แฉกลับคนริเริ่มให้รื้อรัฐธรรมนูญก็มาจากขาใหญ่พรรคร่วมรัฐบาลเอง ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย
เบิ้ลกลับด้วยการถอนเรื่องรื้อรัฐธรรมนูญหมดเหมือนกัน
สไตล์ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ไฟต์เดิมพันไม่ใช่ทีม “เถ้าแก่ใหญ่” ที่เสี่ยงอยู่ในวงล้อมนิติสงคราม ก๊วนเซราะกราว ตระกูลชิดชอบ แม้กระทั่ง “เสี่ยหนู” เอง ก็เจอปักชนัก ปมบุกรุก “เขากระโดง” จังหวัดบุรีรัมย์
ติดบ่วง “จริยธรรม” รอโดนลากเข้าหลักประหารเหมือนกัน.
"ทีมการเมือง"
คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม