“นายกฯ แพทองธาร” เปิดงาน “30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กทม.” ภูมิใจ 30 บาทอยู่ในความทรงจำตั้งแต่สมัย “ทักษิณ” ทำฝันกลายเป็นจริง คนไทยจับต้องนโยบายเป็นรูปธรรม ได้เข้าถึงการรักษา มีชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

วันที่ 27 กันยายน 2567 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กทม. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร และกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยังจำได้ดีถึงประสบการณ์ในตอนที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี วันหนึ่งท่านกลับบ้านมา แล้วเล่าให้ฟังที่โต๊ะทานข้าวว่า วันนี้มีคนเดินมาหาพ่อ เขาถอดเสื้อออก โชว์แผลผ่าตัดใหญ่มากตรงหน้าอก เป็นการผ่าตัดหัวใจที่ยากและซับซ้อน แต่การผ่าตัดใหญ่ทั้งหมดนี้จ่ายเงินแค่ 30 บาทเท่านั้น เขาบอกพ่อว่าสุขภาพดีขึ้นมาก ไม่ต้องทนทุกข์เรื้อรังอีก นี่คือเรื่องจริงของนโยบายที่สามารถช่วยชีวิตของผู้คนได้

...

เรื่องเล่าในวันนั้นถูกบันทึกอยู่ในความทรงจำของตนจนถึงวันนี้ เป็นสิ่งย้ำเตือนให้ทำงานอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อทำนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น เพื่อทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงให้ได้ 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในฐานะรัฐบาล พี่น้องประชาชนคนไทยสามารถจับต้องนโยบายที่เป็นรูปธรรม เข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล มีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างที่ควรจะเป็น

ผ่านมา 23 ปี ถึงเวลาแล้วที่เราจะยกระดับไปอีกขั้น จาก “30 บาทรักษาทุกโรค” สู่ “30 บาท รักษาทุกที่” ซึ่งตอนนี้ขยายมาถึง กรุงเทพมหานครแล้ว ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่ขาดแคลนบริการสาธารณสุขในระดับต้นและระดับกลาง ทั้งที่ควรมีศูนย์บริการสาธารณสุขถึง 500 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 50 แห่ง

โดยต่อไปนี้ทุกคนที่ถือสิทธิ์ “30 บาท รักษาทุกที่” ในกรุงเทพมหานคร ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถเข้าไปหาหน่วยบริการสาธารณสุขได้เลย เช่น ร้านยาใกล้บ้าน, คลินิกเวชกรรมใกล้บ้าน, คลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน, รถโมบายตรวจเลือด ที่บางครั้งจะเข้าไปให้บริการในชุมชน ตู้คีออสในห้างหรือสถานีรถไฟฟ้า ที่สามารถเข้าไปปรึกษาคุณหมอผ่านเทเลเมดิซีน และมีหน่วยบริการอื่นๆ ใกล้บ้านอีกหลายแห่ง แค่มองหาสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ก็เข้ารับบริการได้ทันที ไม่เสียค่าใช้จ่าย

การดำเนินงานมาตลอด 8 เดือนของ “30 บาทรักษาทุกที่” ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผลงานดังนี้ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเลือกใช้บริการที่คลินิกเอกชนใกล้บ้านแทนการมาที่โรงพยาบาล แน่นอนว่าลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอตรวจ ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยเฉลี่ย 160 บาท/ครั้ง ลดระยะเวลารอในโรงพยาบาลลงถึง 50% จากเฉลี่ย 2 ชั่วโมง เหลือประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อรักษาใกล้บ้านก็ลดภาระการขาดงานของผู้ป่วยและญาติ ที่สำคัญพี่น้องประชาชน ผู้รับบริการกว่า 98% พึงพอใจกับนโยบายนี้เป็นอย่างมาก

“30 บาทรักษาทุกที่” ได้เริ่มต้นครั้งแรก ในวันที่ 7 มกราคม 2567 โดยเริ่มใน 4 จังหวัดนำร่อง และได้ขยายนโยบายครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 41 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 45 จังหวัด และในวันนี้ วันที่ 27 กันยายน 2567 จะเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ด้านสาธารณสุขไทยที่ต้องบันทึกไว้ว่าเราทุกภาคส่วน รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ สภาวิชาชีพทางการแพทย์ หน่วยบริการภาคเอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ทำให้กรุงเทพมหานคร อยู่ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้านได้สำเร็จ ทำให้ 30 บาทรักษาทุกที่ ขยายสู่ 46 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ตนจึงขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยมั่นใจได้ว่า ภายในปี 2567 นี้ รัฐบาลจะสามารถขยาย “30 บาทรักษาทุกที่” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้วทั่วประเทศไทย เพื่อทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล พร้อมย้ำว่าสำหรับคนกรุงเทพฯ อย่าลืมมองหาสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ นั่นคือเป็นหน่วยบริการที่ทุกท่านเข้าไปใช้บริการได้

โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า ในนามของกรุงเทพมหานครดีใจที่รัฐบาลมาสานต่อนโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่" เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากหากประชาชน เจ็บป่วยก็ไม่สามารถทำงานหารายได้ได้ ก็จะเป็นวงจรให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ กทม.มีโรงพยาบาลชั้นดีจำนวนมาก แต่ก็มีประชากรแฝงถึง 10 ล้านคน ขณะที่ ปัญหาสาธารณสุขไม่ได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นโครงการนี้สำคัญมากๆ โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ 1. ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยง 2. การเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาล และ 3. ระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง อาทิ มีหน่วยสาธารณสุขนวัตกรรม ร้านขายยาที่ใกล้บ้าน ทำให้ประชาชนไม่ต้องตื่นมาตี 3 ตี 4 เพื่อไปรอคิวการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใหญ่ นี่คือหัวใจของ 30 บาทซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เป็นหัวใจที่จะสร้างความมั่นคง ความสะดวกและประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน นี่คือหัวใจพื้นฐาน ถ้าประชาชนมีสุขภาพดีจะช่วยกันในการพัฒนาประเทศต่อไป

ขณะที่นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่มีเป้าหมายยกระดับบริการสุขภาพภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยได้รับบริการที่ดีครอบคลุมมีคุณภาพมีมาตรฐานที่ดีขึ้นการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกเดือนม.ค.2567 นำร่อง 4 จังหวัดระยะที่ 2 เดือนมี.ค.2567 เพิ่มเติม 8 จังหวัดและระยะที่ 3 เดือนพ.ค. 2567 เพิ่มเติมอีก 33 จังหวัดและวันนี้กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่ 46 ที่จะเริ่มนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปีนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทั้งประเทศการคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อช่วยให้ประชาชนในกรุงเทพฯไม่ว่าจะมีสิทธิ์บัตรทองที่จังหวัดใดเพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถเข้าถึงการรับบริการสุขภาพได้ทั้งที่หน่วยบริการประจำตามเขตและหน่วยบริการระดับปฐมภูมิทุกแห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 19 แห่งศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 77 แห่งคลินิกชุมชนอีก 280 แห่ง รวมถึงสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่
สำหรับหน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิ ได้แก่ ร้านยาคุณภาพคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรมอบอุ่นคลินิกพยาบาลอบอุ่น เทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น