เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจการเงินไทย หลังการประชุม ครม.วันอังคาร “นายกฯอินเทิร์น” คุณแพทองธาร ชินวัตร ได้ตอบคำถามนักข่าวเรื่องเงินบาทแข็งค่า ที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากว่า “เงินบาทแข็ง มีข้อดี ช่วยการส่งออก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ” หลังจากขึ้นทำเนียบไปแล้วคงถูกพี่เลี้ยงบอกว่าตอบอย่างนั้นไม่ถูก นายกฯแพทองธาร ได้ลงมาตอบนักข่าวใหม่ว่า “เงินบาทแข็งค่าไม่ดีต่อการส่งออก แต่ดีต่อการนำเข้า” อ้างว่านักข่าวถามเยอะเลยงง

ความจริง บาทอ่อนบาทแข็ง เป็นเรื่องยากและน่างงสำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจการเงินลึกซึ้งพอ มันจึงเป็นคำถามที่ยากเกินไปสำหรับนายกฯแพทองธาร การลงมาตอบครั้งหลัง ถ้านักข่าวถามลึกลงไปอีกนายกฯอาจตอบไม่ได้ก็ได้ ขนาดรัฐมนตรีคลังยังต้องนัด ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ถกเรื่องบาทแข็งบาทอ่อนกันเลย

ค่าเงินบาทเช้าวันพุธที่ 25 ก.ย. ที่ผมเขียนคอลัมน์นี้ แข็งค่าขึ้นมาที่ 32.563 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าที่สุดในรอบ 30 เดือน และเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.62–32.64 บาทต่อดอลลาร์ 6 เดือนก่อนหน้านี้ เมษายน 2567 ค่าเงินบาทอ่อนปวกเปียกลงไปที่ 37.17 บาทต่อดอลลาร์ แต่ทว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ตามข่าวการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เดือนสิงหาคมเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาจนทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ และแข็งค่าขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง ตํ่ากว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อไม่กี่วันมานี้

สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ผมเชื่อว่าคนในแวดวงคงรู้ดี

คุณพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 3.8% แข็งค่าเร็วใน กลุ่มนำของสกุลเงินในภูมิภาคในไตรมาส 3 สาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ ของตลาด (19 ก.ย. ปรับลดลง 0.50%) ประกอบกับ การประกาศมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจของจีน (8 แสนล้านหยวน กว่า 3.7 ล้านล้านบาท) ที่ส่งผลบวกต่อทิศทางสกุลเงินภูมิภาค นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงกดดันด้านการแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้ง เงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทย ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม รวมถึง ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นไปถึง 2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์

...

อีกประเด็นสำคัญที่ผมคิดก็คือ ค่าเงินบาทอิงกับเงินดอลลาร์เป็นหลัก แม้จะไม่ได้ผูกติดกับเงินดอลลาร์เหมือนฮ่องกง เมื่อดอลลาร์อ่อนบาทก็แข็ง ดอลลาร์ยิ่งอ่อนบาทก็ยิ่งแข็ง

อีก 3 เดือนที่เหลือในปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมี การประชุมอีก 2 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม นักลงทุนคาดว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ซึ่งจะทำให้ เงินบาทแข็งค่า ขึ้นไปอีก และเงินลงทุนจากต่างชาติก็จะยิ่งไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ดัชนีหุ้นไทยที่คาดว่าจะขึ้นไปที่ 1,500 จุดในช่วงปลายปีนี้ อาจจะทะลุ 1,500 จุดไปไกลเลยก็ได้ เหมือนค่าเงินบาทที่แข็งค่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ดูจากภาพรวมที่เกิดขึ้น ในช่วง 8 เดือนแรก ภาพสุดท้ายก็คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

สัปดาห์หน้า คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ได้นัดหมายกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพื่อถกกันใน 2 เรื่องสำคัญคือ นโยบายอัตราดอกเบี้ย (จะลดลงจาก 2.50% หรือไม่) และ สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง ซึ่ง คุณพิชัย รัฐมนตรีคลัง ก็รู้ว่า เกิดจากปัจจัยภายนอก ธนาคารกลางสหรัฐฯลดดอกเบี้ยแรง แล้วจะแก้ปัญหากันอย่างไร

ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงวันนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 4.55 บาท แข็งค่าขึ้นมา 12.24% ถ้าจะ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว คงพึ่งปัจจัยภายนอกไม่ได้แน่นอน มีทางเดียวที่ทำได้คือ ต้องพึ่งตัวเอง ด้วยการ “ลดค่าเงินบาท” มีใครกล้าทำไหม?

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม