“ณัฐวุฒิ” ยัน เร่งนำร่างกฎหมายห้ามตีเด็กกลับเข้าสภาฯ อีกครั้ง หลังสภาโต้กันวุ่นจนต้องยอมถอนไปปรับปรุงใหม่ สะท้อนความไม่เข้าใจยังมีมาก ย้ำ มุ่งเน้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีวิธีการที่เหมาะสมทำโทษบุตร ปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก


วันที่ 25 กันยายน 2567 ในช่วงหนึ่งของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก ที่เสนอโดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ ซึ่งกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เข้าสู่การลงมติในวาระ 2-3 โดยในการอภิปราย สส. ฝ่ายรัฐบาล ทักท้วงประเด็นที่ร่างเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1567 (2) เรื่องสิทธิผู้ปกครองในการทำโทษบุตร ทำให้ประธานต้องสั่งพักการประชุม 5 นาที และท้ายที่สุด กมธ. ได้ขอถอนรายงานเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข

ต่อมา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย และ กมธ. แถลงข่าวว่า เราคาดหวังว่าการพิจารณากฎหมายฉบับนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่น่าเสียดายที่ กมธ. จำเป็นต้องถอนร่างเพื่อกลับไปพิจารณาทบทวนด้วยเหตุผลดังนี้ เหตุผลแรก การอภิปรายของ สส.หลายคน ตั้งคำถามว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นไปเพื่อเหตุใด เสมือนย้อนกลับไปอภิปรายในวาระ 1 ทั้งที่วาระ 1 ทุกพรรคการเมืองลงมติเห็นชอบ 401 เสียง รับหลักการว่าผู้ปกครองมีสิทธิในการทำโทษบุตร แต่ต้องไม่เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจว่าการดำเนินการอย่างสมควรนั้นเป็นอย่างไร ต้องไม่เป็นการทารุณกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งกรรมาธิการก็ปรับแก้ร่างบนพื้นฐานหลักการนี้

เหตุผลที่ 2 เรื่องถ้อยคำ ร่างแก้ไขของกรรมาธิการมีการปรับแก้ถ้อยคำ 3 จุด คือ 1. เรื่องการทำโทษ เดิมกฎหมายเขียนว่า “ทำเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน” ร่างของเราเพิ่มคำว่า “ทำเพื่อปรับพฤติกรรม” ซึ่งเป็นคำเชิงบวก จะทำให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการลงโทษมากขึ้น 2. เปลี่ยนคำว่าทารุณกรรมหรือทำร้ายเป็นความรุนแรง (violence) เพราะเป็นคำที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกและกฎหมายไทยหลายฉบับจะใช้คำในลักษณะเดียวกัน และ 3. ปรับคำว่า “ด้อยค่า” ที่อาจทำให้เกิดการตีความกว้างเกินไป มาเป็นคำว่า “การกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ซึ่งเชื่อมโยงกับหลักการที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ

...

ดังนั้น ยืนยันว่าเนื้อหาโดยรวมมุ่งสนับสนุนพ่อแม่ผู้ปกครองในการมีวิธีการที่เหมาะสมเพื่อทำโทษบุตร ไม่ใช่ตามที่บางคนกล่าวอ้างว่าต่อไปนี้พ่อแม่ผู้ปกครองจะลงโทษหรือกระทำใดๆ กับลูกไม่ได้ ไม่ใช่ตามที่อ้างว่าจะนำไปสู่ความแตกแยกในครอบครัว การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อพ่อแม่ ที่ว่ามาไม่เกี่ยวข้องกับร่างฉบับนี้แน่นอน

เหตุผลที่ 3 มี สส. ท้วงติงเรื่องของคำว่า “เฆี่ยนตี” ซึ่งต้องยืนยันว่าคำนี้ กมธ. ไม่ได้ใส่เข้าไปใหม่ แต่ปรากฏอยู่ตั้งแต่ชั้นรับหลักการ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ซึ่งประเทศไทยจะขอมีที่นั่งด้วยนั้น ได้ท้วงติงว่าขอให้ประเทศไทยปรับแก้การเฆี่ยนตี โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นข้อห้ามในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้หรือไม่ ซึ่งกรรมาธิการก็ยืนตามนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่วันนี้จะมีการพิจารณาในลักษณะถอนร่างหรือไม่เห็นด้วย

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า เราตระหนักดีว่าอาจยังไม่สามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้มากพอ การอภิปรายของ สส.หลายคนวันนี้สะท้อนว่ายังมีความไม่เข้าใจอยู่มาก จึงเป็นการบ้านของพรรคประชาชนและของ กมธ. ที่ต้องทำงานให้หนักขึ้น โดยกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายพรรคฝ่ายค้านเพียงฉบับเดียวใน 2 สมัยประชุมที่ผ่านมา ซึ่งเราเสียดายที่ไม่มีร่างของพรรครัฐบาลมาประกบ และหวังว่าจะไม่มีการนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นทางการเมือง ขอให้พิจารณาบนเนื้อหาสาระว่าเราจะมุ่งเน้นปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กมธ. จะนัดประชุมโดยเร่งด่วนไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า เพื่อปรับแก้และดูในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจยืนยันตามร่างเดิมในวาระหนึ่ง หรือยืนยันร่างของวันนี้ หรือปรับแก้ถ้อยคำเพิ่มเติมเพื่อสื่อสารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอความร่วมมือไปยังฝ่ายรัฐบาล ถ้าเห็นตรงกันว่ากฎหมายฉบับนี้มีหลักประกันสำคัญนำไปสู่การคุ้มครองเด็ก ขอให้มีการนำมาพิจารณาในสมัยประชุมนี้ โดยเราจะเร่งดำเนินการส่งเรื่องนี้กลับเข้าสภาโดยเร็วที่สุด.