“อนุทิน ชาญวีรกูล” เผย ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ รายงานสถานการณ์น้ำปิงมากแต่ยังบริหารจัดการได้ ขอบคุณโซเชียลชื่นชม การแจ้งเตือน-ไลฟ์สด ส่วนพื้นที่รับน้ำเหนืออย่าง กทม. คาดไม่ซ้ำรอยปี 54 แต่ภัยพิบัติและปริมาณน้ำเยอะไม่ต่างกัน

วันที่ 25 กันยายน 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำปิงล้นตลิ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่รายงานตลอดเวลาว่าปริมาณน้ำยังมากอยู่ แต่ยังบริหารจัดการได้ วันศุกร์ที่ 27 กันยายนนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ไปสำรวจที่เชียงรายและเชียงใหม่พร้อมทั้งนำเครื่องมือเครื่องไม้นำทีมทั้งหลายไปดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งพวกเราก็จะร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรีด้วย

ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเริ่มมีน้ำเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจ นายอนุทินยืนยันว่าทางจังหวัดกำลังเร่งระบายอยู่ บริหารจัดการการไหลของน้ำ เขื่อนและฝายต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ควบคุมได้ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทยและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตลอดเวลา

นายอนุทินยังระบุถึงส่วนที่โซเชียลชื่นชมการบริหารจัดการของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งการแจ้งเตือนและไลฟ์สดสถานการณ์ปริมาณน้ำที่จุดวัด P1 สะพานนวรัฐตลอด 24 ชั่วโมงว่า กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ใช่แค่ของกระทรวงมหาดไทย ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน และยิ่งหากได้กำลังใจจากโซเชียลก็จะยิ่งไม่ท้อถอย พวกเราก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละพื้นที่ประสบภัยมีอำนาจเต็มที่ในการประกาศใช้งบประมาณเพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ และทางส่วนกลางทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย ก็เร่งอย่างเต็มที่ในการสำรวจให้ประชาชนมายืนยันว่าอยู่ในเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้ก็จะเร่งโอนเงินช่วยเหลือไปให้แต่ละครอบครัวโดยเร็วที่สุด

...

ส่วนพื้นที่รับน้ำเหนือ จังหวัดต่างๆ และกรุงเทพฯ ที่ประชาชนหลายคนยังหวาดหวั่น นายอนุทินยืนยันว่า เราใช้ทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่ บูรณาการกับกระทรวงอื่นเพื่อติดตามสถานการณ์พยากรณ์อากาศและระบบการแจ้งเตือนภัย เราทำทุกบริบทอย่างเต็มที่

ส่วนสถานการณ์ครั้งนี้จะซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 หรือไม่ นายอนุทินยอมรับว่า เราต้องคาดว่าไม่น่าจะร้ายแรงถึงขนาดนั้น แต่ว่าตัวจำนวนน้ำและภัยพิบัติที่มา จำนวนปริมาณฝนมากพอๆ กัน และยังมีที่เติมมาจากที่เราควบคุมไม่ได้จากประเทศเพื่อนบ้าน บางทีเขาอั้นไม่ไหวต้องระบายมาถึงเรา เราต้องบริหารจัดการทั้งภัยธรรมชาติเองทั้งปริมาณน้ำที่มาจากการปล่อยระบายจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย