“พิชัย ชุณหวชิร” เผย คุยแบงก์ชาติเรื่องอัตราดอกเบี้ยสัปดาห์หน้า หวังเห็นนโยบายการเงินและการคลังสอดคล้องกัน เชื่อดอกเบี้ยนโยบายมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ด้าน “เผ่าภูมิ” ชี้ ต้องดูกรอบเงินเฟ้อประกอบ
วันที่ 25 กันยายน 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึง การนัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้า ว่า ในภาพใหญ่เรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญกับทุกคนที่ต้องการใช้เงินลงทุน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งจากที่ตนติดตามมาค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ถือว่า แข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน
ทั้งนี้ นายพิชัย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกิดจากปัจจัยจากภายนอก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งสัญญาณว่า จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีก และมีคนเชื่อว่า จะลงอีก 0.75% และจากการที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ออกไปสู่ประเทศที่พัฒนา เช่น ประเทศไทยก็ถือเป็นกลุ่มเป้าหมาย และทุกประเทศก็จะเจอปัญหาเงินแข็งเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นายพิชัย กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่นโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทย เช่น เงินหยวนของจีน เงินดองของเวียดนาม หรือเงินเยนของญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งต้องมาเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ หากประเทศไทยเงินแข็งค่ามากกว่าก็จะเสียเปรียบ และที่ตนดูปรากฏว่า ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่น ๆ และจะส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกด้วย
นายพิชัย กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งในเรื่องกรอบเงินเฟ้อที่ตนคิดว่า ไม่น่าอยู่ในกรอบเงินเฟ้อที่สูงดังที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย เคยคาดการณ์ไว้ว่า แม้เงินเฟ้อจะอยู่ระดับต่ำ แต่ในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ปรากฏว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่แบงก์ชาติคิดไว้ และผ่าน 8 เดือน ค่าเงินเฟ้อเพิ่งเกินขึ้น 0.15% โดยประมาณ ซึ่งตนก็ประมาณการณ์ได้ว่า เงินเฟ้อไม่สูงนัก และหลุดกรอบล่าง ที่เราเคยตกลงว่า อัตราเงินเฟ้อเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดนโยบายแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ที่เรากำหนดไว้ 1-3% แต่เราอยากเห็นใกล้ ๆ 2%
...
เมื่อเราหลุดกรอบข้างล่าง อันนี้คิดว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่งนอกเหนือจากค่าเงินแล้ว เรื่องกรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกัน ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องตกลงกันแล้วว่า กรอบเงินเฟ้อเป็นอย่างไร ระหว่าง 1-3% ซึ่งเราไม่ถึงกรอบล่างเลย และการกำหนดกรอบเงินเฟ้อก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยนำไปกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย ถ้ากำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ระดับหนึ่ง 1-3% แล้วไม่สูง แสดงว่าเศรษฐกิจมันไม่ขึ้น ก็ต้องดูว่า อัตราดอกเบี้ยเราสูงเกินไปหรือไม่ วันนี้ผมคิดว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมาดูแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนเกิดความมั่นใจในฝั่งผู้ผลิตมากขึ้น
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในขณะนี้เศรษฐกิจไทยตกต่ำมายาวนานหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และต่ำกว่าศักยภาพที่ไทยควรจะเป็น ส่งผลในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น หนี้ SME เพิ่มขึ้น และหนี้สาธารณะสูงขึ้น นโยบายเดียวที่จะทำคือ ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านหรือในตลาดโลกได้ ซึ่งในส่วนรัฐบาลใช้กรอบงบประมาณเต็มที่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ในขณะที่เมื่อเศรษฐกิจยังไม่โต เรายังเก็บภาษีเท่าเดิม
นายพิชัย ย้ำว่า การบริหารประเทศรัฐบาลใช้มาตรการทางการคลัง หรือเม็ดเงินที่เก็บได้มากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดต้องสัมพันธ์กับนโยบายทางการเงิน ตัวที่สำคัญที่สุด คือ ดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งนโยบายรัฐบาลเดินไปทิศทางที่ให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ถ้าดันให้ดอกเบี้ยสูงก็จะสวนทางกัน จึงควรพิจารณาให้ดอกเบี้ยต่ำหรือไม่ แต่ถ้ากลัวว่า ดอกเบี้ยต่ำแล้วคนจะใช้จ่ายเงินเยอะ ค่าเงินเฟ้อสูง แต่ในปัจจุบันเห็นชัดแล้วว่า ค่าเงินเฟ้อเราอยู่ในระดับที่ต่ำ ในเกือบ 8 ปี หลุดต่ำกว่ากรอบมา 6 ครั้งแล้ว
“ผมคิดว่า อยากจะเชิญชวนให้นโยบายการเงิน นโยบายการคลังมาทำงานร่วมกันให้สอดประสานกัน อันหนึ่งดันเศรษฐกิจให้ขึ้น อันหนึ่งก็กลัวเศรษฐกิจมีปัญหา ถ้าผมมาดูสถาบันการเงินแล้ว วันนี้สถาบันการเงินเข้มแข็ง ระบบธนาคารเราเข้มแข็ง จึงอยากเชิญชวนมานั่งคุยกัน ว่า มองเห็นข้อมูลเดียวกันและทำงานร่วมกันในนโยบายการเงินสอดคล้องนโยบายการคลัง และเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลอยากจะผลักดันตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ผมว่า เป็นแนวทางที่ดีที่สุด” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ย้ำว่า เวลาพูดคุยกันก็จะใช้เหตุผลกัน ถ้ากลัวว่า ดอกเบี้ยลงแล้วคนจะกู้มากขึ้น ทำให้หนี้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลมองเห็นว่า อาจจะใช่ถ้าในภาวะที่คนที่เงินเยอะ แต่ถ้าดอกเบี้ยลงในภาวะคนไม่มีเงิน คนจะเอาที่ไหนไปกู้ จึงต้องมานั่งคุยกันว่า ตรรกะที่แท้จริงคืออะไร
“หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมด วันนี้ได้เวลาที่จะคุยเรื่องกรอบเงินเฟ้อ นำไปซึ่งแนวทางดอกเบี้ยนโยบายและนำไปซึ่งการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพราะทั้งหมดจะประสานกันหมด ดีที่สุดจับมือกัน ร่วมมือกันนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง เพื่อทำให้ประเทศไทยฟันฝ่าเศรษฐกิจที่เรื้อรังมายาวนาน” นายพิชัย กล่าว
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า พื้นฐานที่จะดูว่า นโยบายทางการเงินหรือดอกเบี้ยนโยบายเหมาะสมหรือไม่ เราดูจาก 1.เรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่ในกรอบ และยังไม่เข้าสู่กรอบเงินเฟ้อที่คาดหวัง และไม่มีแนวโน้มเดินเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อในระยะเวลาอันใกล้นี้ 2.อัตราแลกเปลี่ยน วันหนึ่งค่าเงินบาทขึ้นไปอยู่ที่ 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ อีกวันหนึ่งลงมา 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ช่องว่างตรงนี้ 10% เราไหวกับสถานการณ์แบบนี้หรือไม่ และเงินบาทที่แข็งค่าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
และ 3.เราดูอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันยังต่ำอยู่ รัฐบาลจึงต้องเหยียบคันเร่งเพิ่ม ผ่านโยบายทางการเงินที่ใส่เงินไปในระบบแสนกว่าล้านบาท และเราก็คาดหวังว่า นโยบายการเงินไปในทิศทางเดียวกัน 4.ทิศทางนโยบายการเงินในประเทศต่าง ๆ ในโลก เคลื่อนที่ไปในทิศทางลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะฉะนั้นนโยบายการเงินของประเทศหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายการเงินกับประเทศคู่ค้าและประเทศที่ค้าขายกับไทย
นายพิชัย ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เราดำเนินนโยบายตามที่กรอบงบประมาณเอื้ออำนวย แต่ต้องดูภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งวันนี้เราใช้เม็ดเงินเต็มที่และคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นอีก เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้
สำหรับไตรมาสสุดท้ายต้องมีมาตรการการคลังกระตุ้นอีกหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตอนนี้จะขึ้นไตรมาสสุดท้ายอยู่แล้ว แต่เห็นผลการใช้เงินอยู่แล้ว แต่คิดว่า ยังดูไม่ออกแต่คิดว่า ไม่น่าจะอยู่ในไตรมาสนี้