“จุลพันธ์” ยัน พรุ่งนี้กลุ่มเปราะบางได้รับเงิน 10,000 บาท ทยอยโอนวันละ 4.5 ล้านคน เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้ รับ เฟส 2 ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ทันปีนี้ ปัดตอบทันไตรมาสแรกปี 68 หรือไม่ แต่จะทำให้เร็วที่สุด
วันที่ 24 กันยายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการเตรียมแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบางในวันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นวันแรก ว่า เนื่องจากระบบการโอนผ่านพร้อมเพย์มีข้อจำกัด สามารถโอนได้วันละไม่เกิน 4.5 ล้านคน จึงแบ่งไปตามเลขท้ายบัตรประชาชน กระบวนการเตรียมการทุกอย่างพร้อมสรรพหมดแล้ว โดยจะทำเป็นพิธีกรรมที่นี่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เวลา 09.00 น. แต่เริ่มโอนจริง ๆ ประมาณ 00.00 น. แล้ว ซึ่งประชาชนสามารถเริ่มเช็กสิทธิได้เลย การที่เรามีการลงทะเบียนมาแล้วของกลุ่มเปราะบาง ปรากฏว่ามีการซ้ำซ้อนกับคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ ถึง 10 ล้านคน
เมื่อถามว่าดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 จะทันภายในปี 2567 หรือไม่ นายจุลพันธ์ ตอบว่า ปีนี้น่าจะยาก เพราะติดปัญหาเรื่องระบบ เมื่อถามต่อไปว่าในไตรมาสแรกของปีหน้า (พ.ศ. 2568) จะทันหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวติดตลกว่า “อย่าเอาคำเช่นนั้นเลย ครั้งที่แล้วโดนทวงจนเหนื่อย แต่จะรีบที่สุด เพราะเราทราบว่าความต้องการของประชาชนคือการเร่งรัดในเรื่องนี้”
ผู้สื่อข่าวถามต่อจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกหรือไม่ นายจุลพันธ์ ตอบว่ามี โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายโครงการ ซึ่งดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเพียงแค่โครงการหนึ่งเท่านั้น เพราะประชาชนต้องการเงินให้ถึงมือเพื่อแบ่งเบาค่าครองชีพ รวมถึงการรีสกิลและอัปสกิลที่เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 จะยังเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อยู่เหมือนเดิม ส่วนบริษัทที่จะมาพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับจ่ายเงินนั้นเขาก็เดินหน้าของเขาอยู่ ตนไม่ได้กำกับดูแล ก็ไปข้องแวะไม่ได้
...
นายจุลพันธ์ เผยต่อไปว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีเรื่องการเดินหน้าการพักหนี้ในส่วนของลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ด้วย โดยจะเป็นการพักหนี้และพักดอกเบี้ย การเดินหน้าการพักหนี้ในส่วนของลูกค้า ธ.ก.ส. ต่อเนื่องจากที่ทำมา ซึ่งรัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการจ่ายดอกเบี้ยด้วยระหว่างที่มีการพักหนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้รัฐบาลมีภาระเยอะ โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม มีการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนจำนวนมาก เช่น ธ.ก.ส. เลื่อนการชำระหนี้ออกไป 1 ปี ไม่ต้องมาเป็นภาระของประชาชนช่วงน้ำท่วม และมีมาตรการระยะสั้น ออกสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับอุปโภคบริโภค 50,000 บาท ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน ขณะที่การซ่อมแซมบ้านเรือน รัฐบาลมีกลไกในการช่วยเหลือเช่นกัน ยังมีหลายธนาคารที่มีมาตรการเพิ่มเติมในการเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับประชาชนในระยะนี้ และผ่อนปรนเรื่องดอกเบี้ย พร้อมระบุในช่วงท้ายว่า ประชาชนเงินขาดมือ ธนาคารของรัฐพร้อมช่วย อย่าไปหาเงินกู้นอกระบบ.