“ชูศักดิ์ ศิรินิล” เผย 26 ก.ย.นี้ แค่เสนอรายงานของ กมธ. ยังไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้ คดี 112 รายงานไม่ได้บอกว่าให้รวม แย้ม “ภูมิธรรม” นัดพรรคร่วมรัฐบาล หารือแก้ รธน. 1 ต.ค.นี้ ย้ำ ไม่ได้เอื้อนักการเมือง แต่แก้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม พร้อมยืนยันไม่ได้ยกเลิกเรื่องปราบโกง ยอมรับมีคุย สว. ขอเสียงสนับสนุนแล้ว

วันที่ 23 กันยายน 2567  ที่อาคารรัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง การเตรียมเสนอรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ต่อที่ประชุมสภาฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน นี้ ว่า กระบวนการในการเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมต่อจากนี้ ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมสภาฯ ส่วนในวันพฤหัสนี้เป็นเพียงการเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งตนเองเป็นประธาน และต้องย้ำว่ายังไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ทั้งนี้ มติของที่ประชุมอาจจะให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองต่างๆ รับรายงานไปพิจารณาว่าสมควรจะยกร่าง พ.ร.บ. อย่างไร กรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่มีอำนาจไปบังคับ

สำหรับประเด็นที่ยังมีความละเอียดอ่อน คือการนิรโทษกรรมคดีในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นายชูศักดิ์ ระบุว่า ในรายงานไม่ได้บอกว่าจะให้รวมคดีมาตรา 112 ไว้หรือไม่ เพียงแต่นำทุกข้อเสนอทั้งหมดให้สภาและรัฐสภาพิจารณา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสมาชิกทั้งหลายเหล่านั้นว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะอย่างไรเสียในขั้นตอนการยกร่างกฎหมายว่าจะรวมหรือไม่ เราก็ไม่มีอำนาจตรงนั้น

ส่วนจะมีสิ่งการันตีหรือไม่ว่ารัฐบาลจะหยิบยกกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาจัดทำ นายชูศักดิ์ ตอบว่า ไม่มีอะไรไปบังคับรัฐบาลได้ เพราะเป็นคนละส่วนกัน รัฐบาลจะเสนอกฎหมายด้วยแนวทางไหนอย่างไร หรืออาจจะยังไม่เสนอ แต่ให้พรรคการเมืองดำเนินการ ก็สามารถทำได้

...

อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ระบุว่า แม้รัฐบาลจะยังไม่ตอบสนองต่อการเสนอรายงาน แต่รายงานฉบับนี้ก็ยังไม่ถือว่าสูญเปล่า เพราะรัฐบาลก็อาจมีมติส่งให้พรรคการเมืองพิจารณาไปเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้ามาก็ได้ ขณะที่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง ก็ยังไม่ได้มีการหารือว่าจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคหรือไม่ เพียงแต่ตั้งเรื่องศึกษาให้มีองค์ความรู้ว่าควรดำเนินการด้านกฎหมายอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะมีการคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหลังจากนี้อย่างไรบ้าง ว่า เท่าที่ทราบในช่วงบ่ายของวันที่ 1 ตุลาคมนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีการนัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือในเรื่องนี้ 

โดยจะมีการหารือใน 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนนำเสนอในขณะนี้ ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่าง 2.จะหารือเรื่องที่ทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือความคืบหน้าในเรื่องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง เช่น มีการทำเรื่องประชามติไปถึงไหนแล้ว จะเริ่มทำได้เมื่อไหร่ และจะแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ได้เมื่อไหร่ ซึ่งคงได้ข้อยุติในช่วงเวลาประมาณนั้น

ส่วนข้อครหา การแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการเอื้อนักการเมือง จะผ่านวาระหนึ่งได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราเข้าใจดีว่าความรู้สึกของคนในสังคมเรื่องความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ ปี 60 เป็นอย่างไร แต่เรื่องที่เราแก้ไขคือการแก้ให้เป็นธรรม ชัดเจนขึ้น มีระเบียบปฏิบัติ หรือแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ย้ำว่าเราไม่ได้ยกเลิกเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปราบโกง เพียงแต่ต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนว่า ต้องนับพฤติกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ เพื่อให้ชัดเจนขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาในแง่การทำหน้าที่

ทั้งนี้ ทุกคนคงทราบดีว่า เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ว่าถ้าจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องไปถามกับตรงนั้นตรงนี้ วุ่นวายไปหมดกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ย้ำว่า เราไม่ได้อยากยกเลิกอะไร เพียงแต่ทำกฏหมายให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติ มาตรฐาน ว่าจะชี้จะวัดอย่างไร 


เมื่อถามว่าการแก้ครั้งนี้ จะถือเป็นการแก้เพื่อปลดล็อกปัญหาอุปสรรคทางการเมืองหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไหนๆ ไม่นานก็คงต้องมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจึงเลือกเฉพาะประเด็นที่คิดว่ามีความสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการแผ่นดิน ไม่ได้เก็บมา 10 หรือ 20 ประเด็น ถ้าอย่างนั้นค่อยแก้ทั้งฉบับ 

ส่วนจะซ้ำซ้อนกันไม่ หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 3 ปีนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรามีระยะเวลาช่วงนี้ ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อไปหรือไม่ เพราะหลายคนก็วิเคราะห์ว่า รับรองว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อไป เช่น หากมีเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี ก็จะต้องไปร้องกันอีก นี่ยังไม่ทันไร เห็นคนนั้นคนนี้ไปร้องแล้ว ก็ยกเรื่องจริยธรรม

เมื่อถามว่าได้มีการคุยกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อหาเสียง สนับสนุนแล้วหรือยัง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกัน เพราะ สว.ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของรัฐสภา อย่างไร สว. ก็ต้องเห็นชอบด้วย ไม่งั้นก็ไปไม่ได้เหมือนกัน