"สุทธิพงษ์ จุลเจริญ" ปลัด มท. อำลาชีวิตราชการกว่า 36 ปี เปิดใจบอก ทุกวัน คือความภาคภูมิใจ เป็นกำลังใจให้ "นายกฯ" ขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน
วันที่ 23 ก.ย. 67 ในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความรู้สึกที่มีโอกาสได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทตอบแทนบุญคุณแผ่นดินดังปณิธาน "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ซึ่งตนกำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 67 รวมระยะเวลา 36 ปี 2 เดือน 26 วัน จากตำแหน่ง "ปลัดอำเภอสู่ปลัดกระทรวงมหาดไทย" ที่ทุกวันเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนเป็นคนบ้านนอก อยู่แหลมงอบ จังหวัดตราด เกิดกับหมอตำแย ได้สอบบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการ เมื่อปี 2531 กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตลอดเส้นทางชีวิตราชการ ตนภูมิใจที่ได้เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพยายามบอกกับตัวเองรวมถึงลูกน้องอยู่เสมอว่า "ต้องมี Passion" เพื่อที่เราจะได้ Change for Good และทำหน้าที่ของเราให้ดีขึ้นทุกวัน
...
"เนื่องในโอกาสที่ตนจะเกษียณอายุราชการ จึงได้จัดพิมพ์หนังสือ 2 เล่ม คือ 1. "Change for Good เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" เป็นการประมวลรวบรวมผลงานที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ทางหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ และ 2. "ปลัดเก่ง ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปลัดกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2564-2567)" เป็นประวัติของชีวิตและการทำงานบางส่วน ซึ่งเป็นผลงานสำคัญในการขับเคลื่อนงานแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน อาทิ การขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน (ตั้งแต่ตั้งครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยข้อมูล TPMAP และ ThaiQM, โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่หมู่บ้านศีลธรรม", การส่งเสริมสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยและโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map)
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน ภาคีเครือข่าย ได้จัดพิมพ์หนังสือประมวลองค์ความรู้และแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนมอบแด่ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บริหารระดับสูงทุกท่าน รวม 7 เล่ม ทั้งได้จัดทำ QR Code เพื่อน้อง ๆ ข้าราชการ ตลอดจนผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะจากประสบการณ์การทำงานของตน ได้แก่ 1. ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา อารยเกษตร" ทางรอด (ไม่ใช่ทางเลือก) อย่างยั่งยืน 2. ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 3. 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบารมีแผ่ไพศาล ประชาราษฎร์ร่มเย็น ด้วยสายธารน้ำพระราชหฤทัยแห่งภูมินทร์ 4. สมุดภาพกระทรวงมหาดไทย (2435-2565) เล่ม 1-3 และ 5. พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งได้มอบหนังสือ "การสร้างตัวแบบและการขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน" ซึ่งเป็นการประมวลการศึกษาค้นคว้าและวิจัยตามโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูงแด่นายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมด้วย พร้อมฝากผู้ที่อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนควรอ่าน คือหนังสือ "แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ที่จัดพิมพ์โดย สำนักงาน กปร." นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ตนดีใจที่ได้รับโอกาสจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้กรุณามอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งมายังกระทรวงมหาดไทย ให้ผลักดันขับเคลื่อนสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีความปรารถนาที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตและได้รับโอกาสที่ดีของชีวิตให้กับประชาชนคนไทยที่ยังขาดโอกาสเหล่านั้น ก็คือ "พี่น้องคนไทยที่ยังไม่มีสัญชาติจำนวนมาก" ทั้งนี้ นับตั้งแต่การสถาปนากระทรวงมหาดไทยให้เป็นหน่วยงานทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ถึงวันนี้ 132 ปี เฉพาะเรื่องสัญชาติ หรือเรื่องคนไทยที่อยู่ในแผ่นดินไทยแต่ไร้สัญชาติ เราขับเคลื่อนมาเกือบ 40 ปี ตัวเลขที่ยังตกค้างอยู่คือ 4.8 แสนคน ซึ่งทางสภาความมั่นคงแห่งชาติและภาคีเครือข่ายหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ประชุมหารือร่วมกันแล้ว และเห็นชอบในหลักการ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาบรรจุเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบให้เป็นโครงการ Quick Win ภายในปีงบประมาณ 67 นี้ ก็จะทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับสิ่งที่ดี ได้รับโอกาสที่ดีของชีวิต และที่สำคัญคนที่อยู่บนดอย บนแผ่นดินไทย ที่ล้วนเป็นพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นโครงการนี้ ก็จะเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ ในปีมหามงคล ที่เป็นปฏิบัติบูชาที่สำคัญยิ่ง
ในเรื่องที่ 2 ที่ได้รับบัญชาจากท่านนายกรัฐมนตรี คือเรื่อง การแก้ไขในสิ่งผิด ในเรื่อง "ที่ดินหลวงบุกรุกที่ดินพี่น้องประชาชน" ซึ่งข้อเท็จจริง มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่อาศัยในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ที่เป็นอำเภอที่ 878 เป็นอำเภอตั้งใหม่ล่าสุด แยกจากอำเภอแม่แจ่มและอมก๋อย เมื่อปี 2552 โดยพบว่า ประชาชนที่อยู่อำเภอนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่สูง เป็นดอย พวกเขาอยู่มาก่อนกฎหมายอุทยานประกาศใช้ ซึ่งหลักการง่าย ๆ นั้น ในขณะนี้ เรามีภาพถ่ายทางอากาศที่ทหารสหรัฐอเมริกามาทำให้ตั้งแต่ปี 2495 และปัจจุบันเรามีภาพถ่ายทางอากาศมากกว่า 10 ภาพ และข้อเท็จจริงพบว่า กฎหมายอุทยานและกฎหมายป่าสงวน ตราขึ้นในปี 2507
ดังนั้น หากท่านนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้เรื่องนี้ขอความเห็นชอบในที่ประชุม ครม. ให้นำภาพถ่ายทางอากาศมาประกอบกับที่กรมแผนที่ทหารทำการเดินสำรวจ มาใช้เทคโนโลยี AI หรือเทคโนโลยีอื่นใด ซ้อนเป็นเลเยอร์ แล้วมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด (กปร.ส่วนจังหวัด) ดำเนินการ ก็จะทำให้การออกโฉนด และการออกเอกสารสิทธิ์สามารถดำเนินการต่อไปได้ ยังผลทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีสุขอย่างดียิ่ง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ตนภาคภูมิใจตลอดเวลาของการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับขอเป็นกำลังใจให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้ผลดี และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องปลัดกระทรวงและข้าราชการทุกท่านที่ยังอยู่ในราชการได้มุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือ "ความสุขที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชน"