ก.เกษตรฯ ระดมทุกหน่วยงานเต็มกำลัง ทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องมือต่าง ๆ และถุงยังชีพ ช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ประสบอุทกภัย พร้อมเร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด
วันที่ 23 กันยายน 2567 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงเกษตรกรและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างมาก โดยตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำท่วมหนักที่จังหวัดเชียงราย นางนฤมล ประสานให้ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าและดูแลประชาชนในทุก ๆ ด้านเต็มที่
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมูลนิธิธรรมนัส พรหมเผ่า ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อาทิ การมอบถุงยังชีพ ถุงยังชีพปศุสัตว์ อาหารสุนัขและแมวสำเร็จรูปบรรจุซอง รวมถึงอาหารกล่อง อาหารแห้ง พร้อมน้ำดื่มให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ 4 จังหวัด (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) รวม 17,490 ชุด
...
ในส่วนของที่พักพิงชั่วคราว ใช้พื้นที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนและเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากอุทกภัย, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงราย (เกษตรที่สูง) ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเกษตร (พืชสวนเชียงราย) สนับสนุนบุคลากร และจัดเตรียมพื้นที่พักอาศัยชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัย โดยสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้จำนวน 100 คน และที่จอดรถชั่วคราวจำนวน 200 คัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้แจกเมล็ดพันธุ์พืชผัก เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ให้กับเกษตรกร 48,562 ราย จำนวน 49,300 ซอง และเตรียมหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา 7,560 ขวด และเชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้ 14,840 กิโลกรัม สำหรับฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลด เช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์ ที่ช่วยอพยพสัตว์ 600,399 ตัว รักษาสัตว์ 7,275 ตัว ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 22,842 ซอง ถุงยังชีพสัตว์ 187 ถุง หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 670,430 กิโลกรัม รวมทั้งจัดตั้งสถานที่พักพิงสัตว์ชั่วคราว ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยมีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลสุขภาพสัตว์ให้ด้วย
ด้านกรมประมง ได้จัดชุดเฉพาะกิจพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ เรือตรวจการประมง ช่วยนำส่งเสบียงอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ พะเยา น่าน สุโขทัย พร้อมทั้งอพยพประชาชน ผู้ป่วย เด็ก และคนชรา ในพื้นที่ประสบภัยไปสู่พื้นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทย ได้มอบถุงยังชีพ จำนวน 855 ถุง มอบปัจจัยที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ได้แก่ ข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรัม จำนวน 300 ถุง เครื่องปรุง ผักสด เนื้อสัตว์ เพื่อใช้ประกอบอาหาร และมอบน้ำดื่มสะอาด จำนวน 6,960 ขวด อีกทั้งประสานงานกับผู้นำชุมชน และเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ รับแจ้ง และสำรวจความเสียหายจากอุทกภัยในเบื้องต้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบถึงวิธีการดูแลสวนยางที่ประสบอุทกภัย พร้อมแจ้งรายละเอียดขั้นตอนการขอรับสวัสดิการตามมาตรา 49(5) กรณีสวนยางประสบภัย
ในส่วนของกรมฝนหลวงและการบิน ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ รุ่น AS 350 และ BELL 407 และเครื่องบิน ชนิด CN 1 ลำ CASA 2 ลำ และ CN235 1 ลำ เข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ลำเลียงถุงยังชีพ สิ่งของ อาหาร และเครื่องดื่ม จากมูลนิธิธรรมนัส พรหมเผ่า ขึ้นเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลำเลียงส่งต่อให้กับพื้นที่ประสบภัยอุทกภัย ขณะที่กรมชลประทาน ช่วยเหลือเครื่องมือเครื่องจักรแล้ว 828 หน่วย แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 683 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 73 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 7 คัน เครื่องจักรอื่น ๆ 65 หน่วย เพื่อบริหารและจัดการน้ำให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด