“ไพโรจน์” ปลัดแรงงาน รับ ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจไม่ทัน 1 ต.ค.นี้ ต้องรอหาตัวแทนแบงก์ชาติคนใหม่ร่วมบอร์ดไตรภาคี ยัน ทำงานเต็มที่ก่อนเกษียณอายุราชการแม้เหลือเพียง 6 วัน

วันที่ 23 กันยายน 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท หลังการประชุมล่มมาแล้ว 2 ครั้ง ว่า ได้รับการแจ้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายเมธี สุภาพงษ์ ไม่ได้เป็นตัวแทนของ ธปท. แล้ว จึงต้องรอให้ ธปท. ยืนยันกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ส่งผู้แทนคนใหม่มา ส่วนนายเมธี ต้องลาออก เพราะการแต่งตั้งทำโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นการตั้งโดยชื่อ ซึ่งการจะแต่งตั้งคนอื่นได้ต้องลาออกก่อน

เมื่อถามว่าขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องรอชื่อคนใหม่ที่จะมาแทนนายเมธี เสนอต่อ ครม. ใช่หรือไม่ นายไพโรจน์ ระบุว่าใช่ และประเด็นคือในวันที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง คิดว่า นายเมธี ยังเป็นตัวแทน ธปท. อยู่ แต่เมื่อตรวจสอบส่วนราชการที่ไม่มาประชุม รวมถึง ธปท. ระบุไม่รับผิดชอบการกระทำของนายเมธี ตนจึงได้ทำหนังสือไปยัง ธปท. ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานว่านายเมธีไม่เกี่ยวข้องแล้ว

...

ส่วนระยะเวลาการทำงานของนายไพโรจน์ ที่เหลือเพียง 6 วัน ก่อนเกษียณอายุราชการ จะไม่ทันกับการรับผิดชอบในส่วนนี้หรือไม่ นายไพโรจน์ ย้ำว่าต้องรอหนังสือจาก ธปท. ตอบกลับมา ผู้สื่อข่าวถามต่อ จะไม่ทันประกาศขึ้นค่าแรง 1 ตุลาคมนี้ และต้องเลื่อนไปก่อนใช่หรือไม่ นายไพโรจน์ ยอมรับว่า น่าจะไม่ทัน 1 ตุลาคมนี้ แต่หากนายเมธีลาออกภายในสัปดาห์นี้ และเราสามารถหาคนแทนนายเมธีได้ และเสนอเข้า ครม. ก็อาจจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทัน โดยอาจล่าช้าไป 1-2 สัปดาห์

นายไพโรจน์ ยังระบุอีกว่า หลังจากตนเองเกษียณอายุราชการแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของปลัดไตรภาคี นั่นคือ ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ยืนยันว่าตนทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและทำเต็มที่ สำหรับคำถามว่าจะไปรอดหรือไม่ นายไพโรจน์ ตอบว่า เรื่องค่าแรงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่อยู่ในห้องประชุมก็ไม่รู้ว่า การพิจารณาแต่ละประเด็นฝ่ายนายจ้างก็มีมุมมองหนึ่ง นายจ้างทุกคนมีเหตุผล ส่วนลูกจ้างก็มีเหตุผล ภาครัฐก็ต้องเป็นคนประสาน เอามิติความคิดทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงฝ่ายราชการ มารวมในรูปแบบว่าจะขึ้นเท่าไหร่ ตนรู้ว่าสื่อมวลชนก็รอคำตอบอยู่.