ปิดหีบเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีแล้ว เจ้าหน้าที่เริ่มนับคะแนน ลุ้นผู้สมัคร 4 คน ใครจะเป็นผู้คว้าชัย ด้านเลือกตั้งนายก อบจ.ชุมพร ต้องได้คะแนนมากกว่า 10% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เหตุมีผู้สมัครคนเดียว
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 22 กันยายน 2567 ถือเป็นเวลาปิดหีบการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเปิดคูหาให้ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดเข้ามาใช้สิทธิตั้งแต่ 08.00 น. ทั้งนี้ หลังปิดหีบ เจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จะเริ่มตรวจนับและขานคะแนนทีละใบจนหมด ก่อนที่จะนำไปรวมที่ศูนย์ซึ่งอยู่ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยในค่ำคืนนี้จะทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง
ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี 4 คน ดังนี้
- หมายเลข 1 นายชาญ พวงเพ็ชร์
- หมายเลข 2 นายอธิวัฒน์ สอนเนย
- หมายเลข 3 พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง
- หมายเลข 4 นายนพดล ลัดดาแย้ม
ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์สั่งให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีขึ้นใหม่ ตามมาตรา 106 วรรค 4 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยให้ใบเหลืองนายชาญ ผู้ได้คะแนนสูงสุดของการเลือกตั้ง จากกรณีมีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาว่า นายชาญจัดเลี้ยงและมหรสพเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตัวเอง เป็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
...
ในส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร พบว่ามีเพียงคนเดียว คือ นายนพพร อุสิทธิ์ หรือ นายกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ซึ่งลาออกจากตำแหน่งไป โดยกลับมาลงสมัครใหม่อีกสมัย และยังเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวแบบไร้คู่แข่งด้วย ซึ่งบรรยากาศการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเงียบเหงา
สำหรับกรณีมีผู้สมัครเพียง 1 ราย ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ปี พ.ศ. 2562 มาตรา 111 กำหนดไว้ว่า กรณีที่มีผู้สมัครเท่าจำนวนที่จะพึงมี ซึ่งมีผู้สมัครลงเลือกตั้งเพียง 1 คน กับตำแหน่งที่ลงสมัครมีจำนวนเท่ากัน กรณีที่จะได้รับเลือกตั้งตามกฎหมายจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 เงื่อนไข คือ ได้รับคะแนนมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และต้องมีคะแนนที่มากกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครใด จึงจะได้รับการเลือกตั้ง และได้รับการประกาศให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่หากไม่สามารถทำได้ 2 เงื่อนไขดังกล่าว ก็จะประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ รับสมัครผู้ลงเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรายเดิมไม่สามารถลงสมัครได้อีก
ในส่วนของการประกาศผลของทั้ง 2 จังหวัด กกต. จะต้องตรวจสอบเบื้องต้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งนั้นภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง