12 กันยายน 2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนทั้งปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม และได้กำหนดสาระสำคัญของนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ที่จะดำเนินการทันที ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ การปกป้องผู้ประกอบการไทยจากคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การนำเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค เป็นอาทิ

นอกจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ดีดตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลแพทองธารแล้ว ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังอยู่ในระดับย่ำแย่ จากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอก ซ้ำเติมด้วยอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เชียงราย ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะ “รับน้อง” รัฐบาลใหม่พอดิบพอดี

ในโอกาสที่รัฐนาวา “นายกฯแพทองธาร” กำลังจะเคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งสู่ท้องทะเลที่มีเค้ารางพายุบ้าคลั่ง “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขอรวบรวมนโยบายเร่งด่วนภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจในความรับผิดชอบมานำเสนอเพื่อยึดเป็นคำมั่นสัญญาจากบรรดาท่านรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ ตั้งแต่นโยบายแฮร์คัทหนี้ครัวเรือน, ปิดตำนานถนนพระราม 2, เร่งคืนเงินเหยื่อภัยออนไลน์, รื้อ–ลด–ปลด–สร้างระบบพลังงานไทย, รักษาค่าบาทให้เหมาะกับการส่งออก, กำจัดขยะพิษ–ปกป้องเอสเอ็มอี ไปจนถึงภารกิจหารายได้ 3.5 ล้านล้านบาท!!!

...

พิชัย ชุณหวชิร
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง

นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งท่านนั่งเป็นประธานเอง จะมีการประชุมนัดแรกสัปดาห์นี้ ซึ่งจะทยอยออกมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน กระตุ้นการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน ที่ดำเนินการได้ทันทีเลย คือการโอนเงินสด 10,000 บาท ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ รวม 14.55 ล้านคน ซึ่งจะเริ่มโอนตั้งแต่วันที่ 25-27 ก.ย. และ 30 ก.ย.2567

ถัดไปจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ด้วยการตัดหนี้ (แฮร์คัท) เหมือนการตัดหนี้ภาคเอกชน ส่วนจะตัดหนี้เท่าใดนั้น อยู่ระหว่างหารือ โดยการตัดหนี้จะช่วยลดหนี้เสีย ทำให้ลูกหนี้กลับมาเป็นลูกหนี้ดีได้เร็วขึ้น ยื่นกู้ใหม่ได้ รวมถึงการออกมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำท่วมเพิ่มเติม

กระทรวงคลังยังจะนัดหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอลดการนำเงินส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ จาก 0.46% เหลือ 0.23% เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ ด้วยการลดดอกเบี้ย รวมทั้งมาตรการภาษีอื่นๆที่จะช่วยลด แบ่งเบาภาระ และกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียด ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีนั้น เป็นเรื่องต้องดำเนินการ แต่เร่งด่วนเพราะต้องศึกษารายละเอียดรอบด้าน

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม

นโยบายเร่งด่วนทุกโครงการ จะทำภายใต้แนวคิด “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ทั้งระยะสั้น กลางและยาว โดยนโยบายระยะสั้นและระยะกลาง ที่ทำอยู่และทำต่อเนื่องคือ โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และการเร่งผลักดัน พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางผ่านรัฐสภา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.2568 ซึ่งจะทำรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสี เก็บค่าโดยสารที่ 20 บาท

ขณะเดียวกันจะเร่งปิดจบโครงการก่อสร้างถนนในตำนาน “ทางหลวงหมายเลข 35 หรือ ถนนพระราม 2” ต้องแล้วเสร็จเพื่อเปิดให้บริการได้ภายในเดือน มิ.ย.2568

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทางทั่วไทยของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเร่งเดินหน้าประกวดราคาหาเอกชนเข้ามาก่อสร้าง รวมถึงเร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงโคราช-หนองคาย ให้ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 รวมทั้งจะเร่งจัดหาขบวนรถจำนวน 184 คันมาวิ่งให้บริการ เพื่อรองรับภายหลังจากที่สร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ

ส่วนการพัฒนาทางอากาศ ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนั้น กำลังเร่งปรับแผนแม่บทการพัฒนาสนามบิน ขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยการสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ทางด้านทิศใต้ ตลอดจนพัฒนาสนามบินอันดามัน (ภาคใต้) และสนามบินล้านนา (ภาคเหนือ) ให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 10 ปี

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

กระทรวงดีอีจะเดินหน้าสานต่อนโยบาย The Growth Engine of Thailand การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย 3 เครื่องยนต์ใหม่ คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล 2.สร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจ สังคมดิจิทัล 3.เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล

โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา งานของดีอีมีหลากหลาย แต่อาจเห็นการโฟกัสที่ปัญหาภัยออนไลน์ เพราะเป็นปัญหาร้ายแรงที่คนไทยตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ AOC 1441 ตั้งแต่ 1 พ.ย.66 ตลอดจนแก้กฎหมายเพื่อเร่งอายัดบัญชีม้า ตัดตอนการโอนเงิน ระงับบัญชี กำจัดซิมม้า จนเดือน ส.ค.67 มูลค่าความเสียหายคดีออนไลน์ลดลงเหลือเฉลี่ยวันละ 75 ล้านบาท จาก 116 ล้านบาทในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.67

ส่วนงานเร่งด่วนต่อจากนี้ คือการเร่งรัดคืนเงินให้เหยื่อภัยออนไลน์ เพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูล ป้องกันคนร้ายโอนเงินโดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ระงับธุรกรรมต้องสงสัยโดยการใช้ซิม การสื่อสาร รวมทั้งการเร่งพัฒนาบุคลากรด้าน AI เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ของภูมิภาค

นอกจากนั้น ในวันที่ 3 ต.ค.67 ประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 จะมีผลบังคับใช้ เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ซื้อสินค้าบริการออนไลน์แบบเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) กรณีได้สินค้าไม่ตรงปก

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน

กระทรวงพลังงานยังเดินหน้าแนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” ต่อ ด้วยการนำร่องใช้กลไกทางกฎหมาย สะสางปัญหาหมักหมมในระบบพลังงาน ตามทฤษฎีบันได 5 ขั้น ที่สำเร็จไปแล้ว 3 ขั้น โดยขั้นที่ 3 คือการรื้อระบบการค้าน้ำมัน ซึ่งต้องยกร่างกฎหมายใหม่ “กฎหมายที่ผมพูดถึง ผมร่างเองทั้งหมด เริ่มทำมาตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยใช้เวลาเที่ยงคืนถึงตี 3 แทบทุกคืน เพื่อร่างกฎหมายฉบับนี้”

จากนี้ไป คาดว่าจะสามารถผลักดันทั้งกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมัน กฎหมายการสำรองน้ำมันของประเทศ กฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยสร้างรากฐานด้านพลังงานให้มั่นคง เป็นธรรม สำหรับบันไดขั้นที่ 4 คือการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงของประเทศหรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลควบคุมราคาได้เอง และบันไดขั้นที่ 5 คือการออกกฎหมายสร้างระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ และกฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมัน รวมถึง กฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์

ขณะที่เรื่องค่าไฟจะยังคงรักษานโยบายที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนต่อไป

พิชัย นริพทะพันธุ์
รมว.พาณิชย์

นโยบาย 10 ข้อที่ได้มอบไว้กับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ มีบางส่วนเป็นการสานต่องานของนายภูมิธรรม เวชยชัย อดีต รมว.พาณิชย์คนก่อน ประกอบด้วย 1.ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ ขยายโอกาส โดยเน้นลดค่าครองชีพประชาชน 2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ พร้อมประกาศทำทุกทางเพื่อทำลายระบบผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ 3.ทำงานเชิงรุก ระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำสินค้าไทยไปขายในต่างประเทศ

4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เก่าล้าสมัย 5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก 6.เร่งผลักดันการส่งออกให้บวกยิ่งกว่าเดิม ผ่านกลไกการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก รวมถึงจะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาทางทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาคส่งออก 7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 8.พานักธุรกิจไทยไปบุกต่างประเทศ 9.ปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย เพราะสินค้าส่งออกไทยเริ่มล้าสมัย และต้องทำในธุรกิจใหม่ เช่น PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ต้องเร่งให้เกิดมากขึ้น 10.ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงตลาดสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รมว.อุตสาหกรรม

ที่ต้องทำทันทีและทำเดี๋ยวนี้ คือการปฏิรูปอุตสาหกรรม ภายใต้ 3 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1.การกำจัดขยะมลพิษ 2.เดินหน้าปกป้องอุตสาหกรรมไทย-เอสเอ็มอี จากพฤติกรรมการบิดเบือนตลาด การทุ่มตลาด 3.พัฒนาอุตสาหกรรม ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อให้อุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีการเซ็น “บันทึกเตือนใจ” เพื่อใช้เป็นกำลังใจในการทำงาน

“กระทรวงอุตสาหกรรมมีอาวุธอยู่ในมือน้อยมาก จึงต้องติดอาวุธก่อนเพื่อให้มีเป้าหมาย มีระยะเวลากำหนดชัดเจน ผมมีความคิดเสนอตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยจะรวบรวมกองทุนการเงินต่างๆที่อยู่ภายใต้กระทรวงจำนวนมากและหลากหลายภารกิจมาไว้ที่เดียว เพื่อกำหนดภารกิจให้ชัดเจนในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมไทย วงเงินกองทุนเบื้องต้นหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ชัดเจนโดยเร็ว”

สรวงศ์ เทียนทอง
รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

ในฐานะกระทรวงหลักที่ต้องหารายได้เข้าประเทศ เริ่มต้นจากการแบกรับการหารายได้ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี 2567 ให้ได้ถึงเป้า 3 ล้านล้านบาท ที่แนวโน้มน่าจะได้แน่ แต่เป้าหมายเชิงนโยบายที่รัฐบาลเศรษฐาตั้งไว้ 3.5 ล้านล้านบาท ก็จะพยายามให้ได้ใกล้เคียงที่สุด เพราะนี่คือจุดวัดฝีมือ ภายใต้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 36.7 ล้านคน จาก ม.ค.-ก.ย.2567 ได้มาแล้ว 25 ล้านคน และต้องมองเลยไปถึงปี 2568 ที่ต้องสร้าง รายได้ให้สูงกว่าปีนี้อีก 7%

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไข คือการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะการฟื้นฟูให้นักท่องเที่ยว กลับไปเที่ยว เชียงราย หนองคาย ให้ได้เช่นเดิม

“ก่อนเริ่มงานก็ศึกษาเรื่องภายในกระทรวงมาเป็นอย่างดี มีความตั้งใจและทิศทางในการบริหารนโยบายชัดเจน รัฐบาลอยู่นานแค่ไหน ผมก็อยู่นานเท่านั้น”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม